วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2562
ธนาคารโลกได้เผยแพร่การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 (Doing Business 2020) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวม 190 ประเทศ โดยประเทศไทยได้อันดับที่ 21 ของโลก ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่ผ่านมา
อันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 ประเทศไทยได้อันดับที่ 21 ของโลก
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ธนาคารโลกได้เผยแพร่การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 (Doing Business 2020) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวม 190 ประเทศ โดยประเทศไทยได้อันดับที่ 21 ของโลก ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่ผ่านมา และมีคะแนนขึ้นมาใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 และมาเลเซียอยู่อันดับที่ 12
การที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นในครั้งนี้เป็นผลจากความพยายามของภาครัฐในการดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งความพยายามลดขั้นตอนการขออนุมัติหรือการนำระบบดิจิทัลเข้ามาให้บริการภาครัฐ รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น รวมถึงการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนเสียงข้างน้อย
ส่วนอันดับด้านการชำระภาษี (Paying Taxes) ของประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ 77.7 คะแนน และยังคงเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2560 อันดับด้านการชำระภาษีของไทยปรับตัวดีขึ้นมากจากอันดับที่ 109 มาอยู่ที่อันดับ 68 ในปัจจุบัน โดยกรมสรรพากรได้ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพรวมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่น การร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลงบการเงินและการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลเข้าด้วยกัน โดยถือว่านิติบุคคลที่ได้นำส่งงบการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางเว็บไซต์ www.dbd.go.th แล้วจะไม่ต้องยื่นงบการเงิน ต่อกรมสรรพากรอีก และยังได้ดำเนินการปรับปรุงแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ให้เหลือ 6 หน้าจาก 8 หน้า เพื่อให้กรอกง่ายลดความซ้ำซ้อนของรายการที่กรอก รวมถึงกรมสรรพากรได้พัฒนาระบบ e-filing โดยเปิดให้บริการ Open API แล้วกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91) และการชำระอากรแสตมป์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-stamp) โดยมีแผนงานจะเปิดให้ครบทุกประเภทแบบฯ ในระบบ e-filing ต่อไป เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการและเชื่อมต่อการให้บริการไปยังระบบ Software ของภาคเอกชน นอกจากนี้กรมสรรพากรได้นำเครื่องมือเกณฑ์ความเสี่ยงมาใช้ในการตรวจสอบภาษี โดยได้ปรับปรุงพัฒนาเกณฑ์ความเสี่ยงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจทุกปี และในปีที่ผ่านมากรมสรรพากรได้นำ Data Analytics มาปรับใช้ระบบเกณฑ์ความเสี่ยงเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียภาษีให้สามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รวดเร็วขึ้น และคาดว่าจะช่วยให้การจัดอันดับด้านการชำระภาษีในปีหน้ามีทิศทางที่ดีขึ้น
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน