http://www.thaigov.go.th
วันนี้ (7 ตุลาคม 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตุลาการ)
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
4. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (หลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี)
5. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) พ.ศ. ….
6. เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วน
จังหวัดนนทบุรี
7. เรื่อง การขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ 2559 และ 2560
8. เรื่อง การจัดสรรทุนรัฐบาล ก.พ. ที่สำนักงาน ก.พ. ทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อ เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
9. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติ ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562
10. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และรายละเอียดโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย)
11. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี ไทย – อินเดีย ครั้งที่ 8
12. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทย และ กระทรวงมหาดไทยฮังการี
13. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ (Deep of Grant) เรือลาดตะเวนจากสาธารณรัฐสิงคโปร์
14. เรื่องร่างสุดท้าย (Final Draft) ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ในกรอบอาเซียนสำหรับปี 2019 – 2024
15. เรื่อง ขอความเห็นชอบและอนุมัติลงนามเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 3
16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
18. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
19. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
20. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
21. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
25. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี
26. เรื่อง การแต่งตั้งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
28. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
29. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว พร้อมเอกสารประกอบงบประมาณ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นเรื่องด่วนต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,200,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณเป็นจำนวน 3,137,290,534,200 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 62,709,465,800 บาท
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตุลาการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ยกเลิกการกำหนดให้ข้าราชการตุลาการพ้นจากตำแหน่ง กรณีวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่ง
2. กำหนดให้การพ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการซึ่งมิใช่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา กรณีตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้การได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้รับนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ และให้พิจารณาในประเด็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งให้รับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ. คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สำหรับภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นจากร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้ยกเลิกมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ. 2555
2. กำหนดให้ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (เดิมกำหนดให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มนับแต่วันเข้ารับหน้าที่) ทั้งนี้ เมื่อได้รับเงินดังกล่าวแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาแล้วแต่กรณีอีก
3. กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือน ดังนี้
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) |
วันที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม |
1. ส.ส. (เลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป)
2. ส.ส. ผู้เข้ามาแทน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตาม ม. 105 (1) ของ รธน.
3. ส.ส. ผู้เข้ามาแทน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตาม ม. 105 (2) ของ รธน. |
- นับแต่วันเลือกตั้ง
- นับแต่วันเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง
- นับแต่วันถัดจากวันประกาศชื่อในราชกิจจานุเบกษา |
4. กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย เมื่อได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งเป็นรายเดือนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก
5. กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาในวาระเริ่มแรกและสมาชิกวุฒิสภาในบัญชีสำรองที่เลื่อนขึ้นมาแทนสมาชิกวุฒิสภาที่ว่างตามมาตรา 269 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
6. กำหนดให้เมื่อพระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มย้อนหลังไปนับวันที่มีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเริ่มต้น
4. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (หลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2. กำหนดมาตรการบังคับตามข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนฟ้องคดีหากคู่สัญญาฝ่ายใดประสงค์จะให้ศาลพิพากษาตามยอมก็ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาล ซึ่งหากคู่สัญญาอีกฝ่ายแถลงรับตามคำร้องขอ ก็ให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมโดยให้นำมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่หากศาลเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักความสุจริตและความเป็นธรรมให้ศาลมีอำนาจปฏิเสธการพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้
3. กำหนดให้ผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมเสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 25 ของค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร แต่ในกรณีที่ศาลปฏิเสธการพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด
5. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างประกาศ
เป็นการกำหนดให้ขยายกำหนดเวลากรณีนายจ้างยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบโดยวิธีการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) ออกไปอีก 7 วันทำการนับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ โดยมีผลใช้บังคับสำหรับค่าจ้างตั้งแต่เดือนที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 24 เดือน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของนายจ้างและเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ได้รับความคุ้มครอง
6. เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.นนทบุรี) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (12 มกราคม 2559) เห็นชอบในหลักการให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ดำเนินโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามหมวด 5 การดำเนินโครงการแห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน ร่างขอบเขตของโครงการ ร่างสัญญาร่วมทุนและผลคัดเลือกเอกชน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกได้ประกาศผลการคัดเลือกเอกชนที่ผ่านการพิจารณาเพื่อให้ร่วมลงทุน จำนวน 1 ราย (บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด ซึ่งร่วมลงทุนกับบริษัทซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 1 จำกัด) ภายหลังการประกาศผลการคัดเลือกเอกชนดังกล่าว องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอความเห็นต่อผลการคัดเลือกเอกชน โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม เช่น การสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นอำนาจหน้าที่และการมอบหมายเอกชนดำเนินการเก็บ ขน หรือกำจัดขยะมูลฝอย ควรมีมาตรการให้ชุมชนลดปริมาณขยะมูลฝอย เป็นต้น และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีได้มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตรวจพิจารณาร่างสัญญาโครงการฯ โดยมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม เช่น ควรพิจารณาขั้นตอนการดำเนินการและระยะเวลาที่กำหนดในร่างสัญญาให้มีความชัดเจน ควรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาความชัดเจนในส่วนที่ยังไม่สามารถระบุข้อความได้ เป็นต้น ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีได้ดำเนินการปรับ (ร่าง) สัญญาโครงการฯ ตามข้อคิดเห็นดังกล่าว โดยสามารถสรุปสาระสำคัญของ (ร่าง) สัญญาโครงการฯ ได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญของ (ร่าง) สัญญาโครงการฯ |
คู่สัญญา |
คู่สัญญาฝ่ายรัฐ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กับคู่สัญญาฝ่ายเอกชน คือ บริษัท ซุปเปอร์ เอิรธ์ เอนเนอร์ยี 8 จำกัด
(เป็นบริษัทที่จดทะเบียนใหม่จากการร่วมลงทุนของบริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด กับบริษัท ซุปเปอร์ เอิรธ์ เอนเนอร์ยี 1 จำกัด) |
มูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น |
จำนวน 4,142 ล้านบาท |
ขอบข่ายของงาน |
ผู้รับผิดชอบ |
หน้าที่หลัก |
|
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี |
- จัดหาที่ดินในการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตไฟฟ้าให้แก่เอกชนจำนวน 57 ไร่
- รวบรวมและส่งมอบขยะมูลฝอยให้แก่เอกชน ไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน
- กำกับดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามสัญญาและมาตรฐานที่กำหนด ไม่ให้เกิดมลพิษและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชน |
|
บริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 8 จำกัด
|
- ดำเนินการปรับปรุงและทบทวนข้อมูลสิ่งแวดล้อมในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ทันสมัยเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- ก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์และส่วนประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทดสอบระบบให้พร้อมสำหรับการดำเนินงานให้แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเดินระบบกำจัดขยะมูลฝอย ภายในระยะเวลา 2 ปี
- ดำเนินการให้บริการและรับผิดชอบกำจัดขยะมูลฝอย ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนนทบุรี และหน่วยงานเอกชนที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงกำจัดขยะมูลฝอยกับคู่สัญญาฝ่ายรัฐ ภายในระยะ
เวลา 2 ปี |
ระยะเวลาโครงการและการดำเนินโครงการ |
รวม 22 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ
- ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี และ
- ระยะเวลาเดินระบบ 20 ปี
|
ค่าตอบแทนและการชำระค่าตอบแทน |
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีชำระค่าบริการกำจัดขยะมูลฝอยแก่บริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 8 จำกัด โดยชำระอัตราตันละ 300 บาท/เดือน
- บริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 8 จำกัด ตกลงชำระค่าตอบแทนเป็นค่าจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและรายได้จากการดำเนินการอื่นที่ได้จากระบบกำจัดขยะมูลฝอยตามสัญญาฉบับนี้เป็นรายปี ปีละ 30 ล้านบาท แก่ อบจ. นนทบุรี ตลอดอายุของสัญญา |
7. เรื่อง การขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ 2559 และ 2560
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ 2559 และ 2560 ตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 ตามที่สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. เสนอดังนี้
1. เห็นชอบการยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรณีโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 121 – 249 คน โดยให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้กับโรงเรียนที่มีผลรวมของอัตราข้าราชการครูและอัตราพนักงานราชการครูไม่เกินกว่าอัตรากำลังครูตามเกณฑ์ของ ก.ค.ศ. และจัดสรรให้ไม่เกินกว่าอัตรากำลังครูที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอขอรับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 รวมทั้งสิ้น 301 แห่ง รวม 362 อัตรา และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 รวมทั้งสิ้น 1,578 แห่ง รวม 1,921 อัตรา
2. ให้ สพฐ. พิจารณาดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร (กม.) ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรและการบริหารจัดการลง
3. กำหนดเงื่อนไขโดยไม่ให้นำอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูไปปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งให้เป็นสายงานอื่น
8. เรื่อง การจัดสรรทุนรัฐบาล ก.พ. ที่สำนักงาน ก.พ. ทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ดังนี้
1. รับทราบแนวทางและรายละเอียดการจัดสรรทุนรัฐบาล ก.พ. ที่สำนักงาน ก.พ. ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อต่อยอดการให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทให้แก่ผู้รับทุนพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 100 ทุน ตามที่คณะกรรมการข้าราชการ
พลเรือน (ก.พ.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 มีมติเห็นชอบ
2. อนุมัติจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ จำนวน 100 อัตรา ให้กับสำนักงาน ก.พ. เพื่อใช้เป็นอัตราหมุนเวียนรองรับการบรรจุนักเรียนทุนรัฐบาล ก.พ. ที่สำนักงาน ก.พ. ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปีพุทธศักราช 2562 ตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ ในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 มีมติเห็นชอบ
ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของอัตราข้าราชการตั้งใหม่ จำนวน 100 อัตรา เห็นชอบให้สำนักงบประมาณ (สงป.) เป็นผู้พิจารณา โดยขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อรับทุนรัฐบาล ก.พ. ที่สำนักงาน ก.พ. ทูลเกล้าฯ ถวายในแต่ละปี
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องที่สำนักงาน ก.พ. เสนอครั้งนี้ เป็นการดำเนินการต่อยอดจากที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการ “ทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 เพื่อสร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจนแต่ประพฤติดีให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี และต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” (ม.ท.ศ.) ขึ้น โดยทรงให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาอยู่ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการพิจารณาทบทวน ปรับปรุงหลักการ แนวคิด และแนวทางการดำเนินโครงการทุนพระราชทานฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามแนวทางพระราโชบาย โดยมีหลักการสำคัญ คือ ให้ผู้รับทุนพระราชทานทำสัญญารับทุนและชดใช้ทุนภายใต้เงื่อนไข เมื่อสำเร็จการศึกษาให้ชดใช้ทุนพระราชทานด้วยการเข้าสู่อาชีพที่มั่นคงตามโครงการทุนที่ ม.ท.ศ. จะเชื่อมโยงตำแหน่งงานที่รองรับสู่การเป็นข้าราชบริพารในพระองค์หรือการทำงานในภาครัฐ ดังนั้น ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (2 มกราคม 2562) รับทราบประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลงวันที่ 2 มกราคม 2562 สำนักงาน ก.พ. จึงเห็นควรทูลเกล้าฯ ถวายทุนรัฐบาล ก.พ. แด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางและรายละเอียดการจัดสรรทุนรัฐบาล ก.พ. ที่สำนักงาน ก.พ. ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว โดยมีรายละเอียดโครงการทุนการศึกษาฯ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด/แนวทางการดำเนินการ |
วัตถุประสงค์ |
- เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสืบสานพระราชปณิธานที่ทรงส่งเสริมและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม ที่ได้รับทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีได้ขยายโอกาสในการศึกษาต่อระดับปริญญาโททั้งในและต่างประเทศในสาขาวิชาที่ประเทศมีความต้องการ หรือขาดแคลนและมีอาชีพที่มั่นคง
- เพื่อบรรจุผู้รับทุนการรัฐบาล ก.พ. ดังกล่าวเข้ารับราชการในกระทรวง กรม เพื่อปฏิบัติงานและพัฒนาท้องถิ่นของตน |
กลุ่มเป้าหมาย |
นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายของหลักสูตรปริญญาบัณฑิต โดยจะเปิดรับสมัครเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกให้ได้รับทุนรัฐบาล ก.พ. ในแต่ละปีงบประมาณ |
จำนวนทุน |
ทุนรัฐบาล ก.พ. ที่ทูลเกล้าฯ ถวาย จำนวน 100 ทุน โดยไม่กำหนดจำนวนทุนที่สรรหาได้ต่อปี และระยะเวลาที่สิ้นสุดการจัดสรรทุน (ประมาณการ 20 ทุนต่อปี) |
ปีที่เริ่มดำเนินการ |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 |
กระบวนการคัดเลือกผู้รับทุนฯ และการกำหนดส่วนราชการที่จะบรรจุ |
ม.ท.ศ. จะเป็นฝ่ายดำเนินการคัดเลือกผู้เข้ารับทุนฯ รวมทั้งกำหนดส่วนราชการที่เหมาะสม โดยใช้กลไกของคณะทำงานร่วม ซึ่งมีสำนักงาน ก.พ. ร่วมดำเนินการ |
การบรรจุผู้รับทุนฯ เข้ารับราชการ |
ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ/ชำนาญการ หรือระดับปฏิบัติการ/ชำนาญการ/ชำนาญการพิเศษ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบทบาทภารกิจ และลักษณะงานที่ปฏิบัติของส่วนราชการที่จะบรรจุและแต่งตั้งนักเรียนทุนฯ |
งบประมาณ |
เบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีที่สำนักงาน ก.พ. ได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณ โดยการอนุมัติจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ จำนวน 100 อัตรา จะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลเพิ่มขึ้นโดยประมาณการ รวมทั้งสิ้น 24,996,000 บาทต่อปี |
การดูแลจัดการศึกษา |
อยู่ในความดูแลของ ก.พ. |
การพัฒนาและติดตาม การใช้ประโยชน์ผู้รับทุน |
สำนักงาน ก.พ. ร่วมเป็นคณะทำงานของ ม.ท.ศ. ในการเตรียมความพร้อมพัฒนาศักยภาพ และประเมิน ติดตามผลการใช้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของการจัดสรรทุน ทั้งนี้ กรณีที่ไม่อาจปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด ให้ ม.ท.ศ. พิจารณาเป็นรายกรณีและสำนักงาน ก.พ. นำเสนอ ก.พ. เพื่อทราบ |
9. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติ ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้
1. แก้ไขมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กันยายน 2562 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการ “ในพื้นที่ 29 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยให้ธนาคารออมสินเป็นหน่วยรับงบประมาณ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยดำเนินการ” เป็น “ในพื้นที่ 32 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยรับงบประมาณและจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน”
2. เห็นชอบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติ ครัวเรือนละ 5,000 บาท
สาระสำคัญของเรื่อง
เหตุผลความจำเป็นในการช่วยเหลือฯ ครัวเรือนละ 5,000 บาท
ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” (PODUL) และพายุดีเปรสชัน “คาจิกิ” (KAJIKI) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บางแห่งมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้น ภาคเหนือและภาคอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่ลาดเชิงเขา และใกล้ทางน้ำไหลทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง มีผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรที่รอการเก็บเกี่ยวรุนแรงอย่างมาก ส่งผลให้พืชผลหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปศุสัตว์ ได้รับความเสียหาย สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนที่อาศัยอยู่ประจำ ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ รวม 32 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ กระบี่ ปราจีนบุรี แพร่ นครพนม เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ระนอง เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ น่าน ตราด มุกดาหาร อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ชุมพร อุดรธานี สระแก้ว ลำปาง เลย สุโขทัย ศรีสะเกษ และสกลนคร ขณะนี้ ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติที่เกิดขึ้นดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 อนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ที่มีการประกาศ เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ครัวเรือนละ 5,000 บาท ในกรอบครัวเรือน จำนวน 418,480 ครัวเรือน ภายในกรอบวงเงิน 2,092,400,000 บาท
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือ
1. หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือให้ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยบ้านที่อยู่อาศัยประจำ ประสบภัยกรณีใดกรณีหนึ่ง ใน 3 กรณี ดังนี้
1.1 น้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย
1.2 บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย
1.3 บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
2. เงื่อนไข
2.1 ทั้ง 3 กรณี ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่อำเภอออกให้ ทั้งนี้ ต้องมีการประชาคมในหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย
2.2 กรณีที่มีประสบภัยซ้ำซ้อนทั้ง 3 กรณี ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงกรณีเดียว
2.3 กรณีที่ประสบภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” (PODUL) พายุดีเปรสชัน “คาจิกิ” (KAJIKI) หรือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงเหตุการณ์เดียว
10. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และรายละเอียดโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และรายละเอียดโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และรับทราบผลการทบทวนเป้าหมายโครงการตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 กันยายน 2562 โครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากสาธารณภัย (กรณีอุทกภัย)
ในการนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป้าหมายที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ หมายถึง องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล
2. การจัดสรรและแนวทางการบันทึกบัญชีในระบบบัญชีคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกระบบรับเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. การตรวจสอบและรับรองข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณว่าอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน
4. การเสนอโครงการเพื่อขอความเห็นชอบกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก่อนดำเนินการ
5. การคืนเงินโครงการที่ไม่ได้ดำเนินการและการส่งคืนเงินเหลือจ่ายโครงการที่ได้ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว
11. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี ไทย – อินเดีย ครั้งที่ 8
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย – อินเดีย ครั้งที่ 8 (Agreed Minutes of the Eighth Meeting of the India – Thailand Joint Cooperation) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าว ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวง การต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังพร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 (เรื่องการจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ) ด้วย ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
[จะมีการลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี ไทย – อินเดีย ครั้งที่ 8 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 10 ตุลาคม 2562 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย)]
สาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยและอินเดียที่มุ่งส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ โดยครอบคลุม 9 ประเด็น ดังนี้ (1) ความสัมพันธ์ด้านการเมือง (2) ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง (3) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (4) ความเชื่อมโยง (5) ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (6) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และระหว่างประชาชน (7) ความร่วมมือด้านกงสุล (8) ประเด็นภูมิภาคและพหุภาคี และ (9) เรื่องอื่น ๆ เช่น ความตกลงบันทึกความเข้าใจที่อยู่ระหว่างการพิจารณา
12. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงมหาดไทยฮังการี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงมหาดไทยแห่งฮังการี [Memorandum of Understanding on Cooperation in the Field of Water Resources Management between the Office of the National Water Resources of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Interior of Hungary] ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศด้านการบริหารจัดการน้ำบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของ แต่ละประเทศ ในสาขาการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ การบริหารจัดการน้ำและน้ำเสีย และการศึกษาการวิจัยและพัฒนาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับน้ำ โดยทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคโนโลยี แนวทางปฏิบัติอันเป็นเลิศ บุคลากรและการศึกษาวิจัยระหว่างกัน รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ไทยในการศึกษาการวิจัยและพัฒนา และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการน้ำจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย
13. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างหนังสือตราสารการโอนกรรมสิทธิ์ (Deep of Grant) เรือลาดตะเวนจากสาธารณรัฐสิงคโปร์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างหนังสือตราสาร ฯ ระหว่าง PCG และสำนักงาน ป.ป.ส. ร่างหนังสือตราสารฯ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และ CCDAC และร่างหนังสือตราสาร ฯ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส และ LCDC โดยมอบหมายให้เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามในหนังสือตราสาร ฯ ทั้งสามฉบับ และ อนุมัติให้กระทรวงยุติธรรม โดยสำนัก ป.ป.ส. สามารถดำเนินการแก้ไขร่างหนังสือตราสาร ฯ ทั้งสามฉบับ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไทยได้ก่อนการลงนาม (หากมีความจำเป็น ให้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
สาระสำคัญของร่างหนังสือตราสาร ฯ ทั้ง 3 ฉบับ
- ร่างหนังสือตราสาร ฯ ระหว่าง PCG และสำนักงาน ป.ป.ส.
1.1 เลขาธิการ ป.ป.ส เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย และผู้บังคับการ PCG (Commander of Singapore Police Coast Guard) เป็นผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์ลงนามในร่างหนังสือตราสารฯ
1.2 เรือลาดตระเวน จำนวน 3 ลำ จะถูกโอนและส่งมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่กระทรวงยุติธรรมโดยสำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งภายหลังจากการส่งมอบเรือเสร็จสิ้นแล้ว สำนักงาน ป.ป.ส.จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติสิงคโปร์ (The Singapore Police Force :SPF)
1.3 กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส. จะรับผิดชอบภาษีและค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์และการจดทะเบียนทั้งหมดตามกฎเกณฑ์ของราชอาณาจักรไทย (หากมี)และจะร่วมกับ SPF ประชาสัมพันธ์เรื่องการสนับสนุนเรือลาดตระเวนดังกล่าว
(2) ร่างหนังสือตราสารฯ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. และ CCDAC
2.1 เลขาธิการ ป.ป.ส.เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยและเลขาธิการ CCDAC เป็นผู้แทนรัฐบาล เมียนมาลงนามในร่างหนังสือตราสารฯ
2.2 เรือลาดตระเวน 2
nd Gen PT Boat จำนวน 1 ลำ จะถูกโอนและส่งมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่ CCDAC ซึ่งภายหลังจากการส่งมอบเรือเสร็จสิ้นแล้ว CCDAC จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสำนักงาน ป.ป.ส.
2.3 CCDAC จะรับผิดชอบภาษีและค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์และการจดทะเบียนทั้งหมดตามเกณฑ์ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (หากมี) และจะร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส ประชาสัมพันธ์เรื่องการสนับสนุนเรือลาดตะเวนดังกล่าว
(3) ร่างหนังสือตราสาร ฯ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส และ LCDC
3.1 เลขาธิการ ป.ป.ส .เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยและเลขาธิการ LCDC เป็นผู้แทนรัฐบาลลาวลงนามในหนังสือตราสาร ฯ
3.2 เรือลาดตะเวน SU Boat จำนวน 1 ลำจะถูกโอนและส่งมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่ LCDC ซึ่งภายหลังจากการส่งมอบเรือเสร็จสิ้นแล้ว LCDC จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสำนักงาน ป.ป.ส.
3.3 LCDC จะรับผิดชอบต่อภาษีและค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์และการจดทะเบียนทั้งหมดตามเกณฑ์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (หากมี) และจะร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส.ประชาสัมพันธ์เรื่องการสนับสนุนเรือลาดตะเวนดังกล่าว
ทั้งนี้ การสนับสนุนเรือลาดตะเวนดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและแสดงถึงเจตนารมณ์และการดำเนินการร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่สำคัญร่วมกัน
14. เรื่องร่างสุดท้าย (Final Draft) ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ในกรอบอาเซียนสำหรับปี 2019 – 2024
คณะรัฐมนตรีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ในกรอบอาเซียนสำหรับปี 2019-2024 และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามเอกสารดังกล่าว หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนลงนามเอกสารดังกล่าวข้างต้น ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้จะมีการลงนามในร่างบันทึกฯ ดังกล่าว ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 41 (AMAF) ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 12-17 ตุลาคม 2562 ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม
สาระสำคัญของงร่างบันทึกฯ สำหรับปี 2019-2024 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มอำนาจการต่อรองในเรื่องการค้าผลิตภัณฑ์เกษตรและป่าไม้ของอาเซียนในตลาดโลก รวมถึงการเสริมความพยายามเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่จะนำไปสู่การขยายตลาด การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าและอาหาร เป็นฐานสำหรับการประสานงานระหว่างรัฐสมาชิกอย่างใกล้ชิด และสร้างความมั่นใจว่าจะมีวัตถุดิบในการผลิตที่ยั่งยืน ภายใต้แผนงานการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้อาเซียน ครอบคลุมสินค้าจำนวน 12 ชนิด ได้แก่ สาหร่ายทะเลและผลิตภัณฑ์ โกโก้ มะพร้าว กาแฟ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ น้ำมันปาล์ม เมล็ดถั่ว และถั่วฝัก พริกไทย มันสำปะหลัง ชา ปลาทูน่า และหม่อนไหม ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอย่างน้อยสองประเทศขึ้นไป โดยกำหนดกลไกการดำเนินงานให้จัดตั้งคณะทำงานรายสินค้าและองค์กรภาคประชาชนของอาเซียนที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยดำเนินงานตามแผนงาน และรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการร่วมอาเซียนภายใต้แผนงานส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ทราบและรับรองผลการดำเนินงาน เพื่อเสนอรายงานความก้าวหน้าต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้เพื่อทราบตามลำดับ
15. เรื่อง ขอความเห็นชอบและอนุมัติลงนามเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง ล้านช้าง ครั้งที่ 3 และอนุมัติให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
(สปป. ลาว ในฐานะเจ้าภาพการประชุมฯ ได้จัดทำร่างเอกสารฯเพื่อให้ประเทศสมาชิกลงนามในการประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค 62 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว)
สาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 3 โดยที่ประชุมรับทราบการนำเสนอนโยบายของรัฐบาลและข้อมูลที่สำคัญซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์ท้องถิ่น สิทธิพิเศษทางภาษี นโยบายการถือครองที่ดิน และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง สรุปการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลยูนนาน (การพัฒนาการค้า อุตสาหกรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม โลจิสติกส์ และสังคม) และข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเชื่อมโยงด้านไฟฟ้าในเขตแม่โขง - ล้านช้าง
ทั้งนี้ ยังให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม รวมทั้งได้ข้อสรุปสำหรับแผนพัฒนาระยะ 5 ปีสำหรับความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน (แผนพัฒนาระยะ 5 ปี) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งเน้นการเชื่อมโยงและพัฒนาเศรษฐกิจข้ามพรมแดนที่มีนวัตกรรมและยั่งยืนร่วมกัน ยกระดับการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม โดยเน้นการพัฒนาสาขาที่มีความสำคัญ เช่น เกษตรและเกษตรแปรรูป พลังงาน การท่องเที่ยว โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมการผลิต โดยมีสาขาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นคือ ยานยนต์ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตชิ้นส่วน วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี การแพทย์และเวชภัณฑ์ ชีวภาพ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมประเด็นอื่น ๆ ได้แก่ โลจิสติกส์ข้ามพรมแดน การอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่ง การยกระดับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสร้างระบบสนับสนุนนิคมอุสาหกรรม การจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ และการจัดตั้งกลไกสนับสนุนความร่วมมือต่างๆ สำหรับสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนโดยเฉพาะ อาทิ คณะกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน กลไกความร่วมมือสำหรับบริษัทและรัฐบาลท้องถิ่น การสนับสนุนเงินทุน และเสริมสร้างความรู้ เป็นต้น
16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง
นายวิริยะ รามสมภพ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ)) ระดับสูง สำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านข้อมูลข่าวสารของราชการ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง
นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
18. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1.
นางจินตนา จันทร์บำรุง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2.
นางสาวอังคณา ใจกิจสุวรรณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
19. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย ดังนี้
1.
นางพัชรี อาระยะกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2.
นางสุภัชชา สุทธิพล รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน
3.
นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ
4.
นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
5.
นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
6.
นายสุทธิ จันทรวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
20. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้ง
นายพลวรรธน์ วิทูรกลชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
21. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย ดังนี้
1.
นางปิยนุช วุฒิสอน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2.
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3.
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4.
นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา
5.
นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียน
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย ดังนี้
1.
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2.
นายพุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3.
นายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4.
นายเฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
5.
นายสุรชัย อจลบุญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1.
นายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2.
นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3.
นายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทวัญ ลิปตพัลลภ) เสนอ รับโอน
นางดวงตา ตันโช ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เพื่อทดแทนตำแหน่งผู้ที่เกษียณอายุราชการ โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอม การโอน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
25. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน
นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว
26. เรื่อง การแต่งตั้งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง
นายคุรุจิต นาครทรรพ ให้ดำรงตำแหน่งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ต่ออีกวาระหนึ่ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1.
นายปฐม เฉลยวาเรศ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมทางหลวงชนบท ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวงชนบท ทดแทนตำแหน่งเกษียณอายุราชการ
2.
นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
28. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวม 6 คน แทนประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้
1.
พลเอก อภิชาต แสงรุ่งเรือง ประธานกรรมการ
2.
นายประพันธ์ ปุษยไพบูลย์ กรรมการผู้แทนฝ่ายนางจ้าง
3.
นายพิชิต พระปัญญา กรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง
4.
นางสาวสุดธิดา กรุงไกรวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
5.
นายนิคม เกษมปุระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
6.
นายกฤษา ชัยกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป และให้กระทรวงแรงงานดำเนินการแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในครั้งต่อไปให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)
29. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ดังนี้
1. นายพรายพล คุ้มทรัพย์
2. นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา
3. นายกฤษฎา บุญราช
4. นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล
5. นายแนบบุญ หุนเจริญ
6. นายธีร เจียศิริพงษ์กุล
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
………………………….