http://www.thaigov.go.th
วันนี้ (1 ตุลาคม 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ 2562
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงเชียงใหม่กับกำหนดเขตอำนาจและวันเปิดทำการของศาลแขวงเชียงดาว ในจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. …. (กำหนดวันเปิดทำการศาลแขวงเชียงดาว วันที่ 1 เมษายน 2563)
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการระดมทุนของสถาบันการเงิน
เฉพาะกิจของรัฐ)
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจดทะเบียนคนเกิดและคนตายที่มีขึ้นนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ….
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. ….
6. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารราชการในต่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
7. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 43) พ.ศ. 2530 พ.ศ. ….
8. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่ ในราชอาณาจักร พ.ศ. ….
9. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงเพื่อปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ฉบับ
11. เรื่อง แนวทางการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักรและร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
12. เรื่อง ข้อเสนอการปรับปรุงโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
13. เรื่อง ขอความเห็นชอบการกู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2562 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
14. เรื่อง รายงานผลการหารือโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีปีการผลิต 2562/63
15. เรื่อง มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
16. เรื่อง แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง"
17. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ถึงเวลาทัวร์ ให้ทั่วไทย” สำหรับ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562
18. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 1 วงเงิน 2,282.98
ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 24 จังหวัด) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
19. เรื่อง การลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3)
20. เรื่อง มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนโพดุลพายุโซนร้อน คาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
21. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านสื่อมวลชนอาเซียน – จีน
22. เรื่อง (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ สมัยที่ 25
23. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างคำมั่นของไทยที่จะประกาศในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ
24. เรื่อง การจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนและความตกลงการดำเนินงานโครงการ Strengthening Regional Experiences on Sustainable Peatland Management (ASEAN-REPEAT) ภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ป่าพรุอย่างยั่งยืนและบรรเทาหมอกควันในอาเซียน (Sustainable Use of Peatland and Haze Mitigation in ASEAN : SUPA)
25. เรื่อง ขออนุมัติการรับรอง (ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกีฬาฟุตบอลระหว่างอาเซียนกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงยุติธรรม)
27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและการตลาดในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
28. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
29. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (สำนักนายกรัฐมนตรี)
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.ร. (สำนักนายกรัฐมนตรี)
31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
33. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ
34. เรื่อง รายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาของรองนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการต่าง ๆ เพิ่มเติม (จำนวน 5 ราย)
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ 2562 ซึ่ง สงป. ได้วางระเบียบขึ้นใหม่ ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ 2561 โดยมีหลักการและสาระสำคัญของระเบียบทำนองเดียวกับที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. กำหนด
กรณีที่จะขอรับจัดสรรเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้สอดคล้องกับหลักการตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามมาตรา 20 (6) ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
1.1 เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
1.2 เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง
1.3 เป็นรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
1.4 เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
ทั้งนี้
หน่วยรับงบประมาณต้องตรวจสอบแน่ชัดแล้วว่าไม่สามารถนำงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณมาใช้จ่ายได้ หรือนำมาใช้จ่ายได้แต่มีจำนวนไม่เพียงพอ
2.
การขอรับจัดสรรงบประมาณ ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอเรื่องให้รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นผู้กำกับแผนงานบูรณาการ แล้วแต่กรณี พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งคำขอให้สำนักงบประมาณ
สำหรับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการก่อน แล้วจึงส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ต่อไป
3.
การจัดสรรงบประมาณ สำนักงบประมาณจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่หน่วยรับงบประมาณ ดังนี้
3.1
กรณีวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบ
3.2
กรณีวงเงินเกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
3.3
กรณีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อน เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วจะแจ้งให้หน่วยรับงบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
4.
การใช้จ่ายงบประมาณ เมื่อหน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว หรือดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วมีงบประมาณเหลือจ่ายต้องดำเนินการนำงบประมาณส่งคืน
5.
การรายงาน หน่วยรับงบประมาณจะต้องรายงานผลการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณต่อสำนักงบประมาณ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นไตรมาสและวันที่การใช้จ่ายงบประมาณแล้วเสร็จ รวมทั้งจัดทำสรุปผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ เพื่อเสนอรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นผู้กำกับแผนงานบูรณาการกรณีเป็นการดำเนินการภายใต้แผนงานบูรณาการ แล้วแต่กรณี
6.
กำหนดให้ระเบียบมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ 2562 และให้ถือปฏิบัติในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
7.
ระเบียบฉบับนี้ ไม่เป็นการเพิ่มขั้นตอนการขอและการอนุมัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่กำหนดไว้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 โดยให้ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงเชียงใหม่กับกำหนดเขตอำนาจและวันเปิดทำการของศาลแขวงเชียงดาว ในจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. …. (กำหนดวันเปิดทำการศาลแขวงเชียงดาววันที่ 1 เมษายน 2563)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงเชียงใหม่กับกำหนดเขตอำนาจและวันเปิดทำการของศาลแขวงเชียงดาว ในจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้เปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงเชียงใหม่ โดยให้มีเขตอำนาจในอำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอดอยหล่อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม อำเภอแม่วาง อำเภอแม่ออน อำเภอสะเมิง อำเภอสันกำแพง อำเภอสันทราย อำเภอสันป่าตอง อำเภอสารภี และอำเภอหางดง
2. ให้จังหวัดเชียงใหม่มีศาลแขวงเพิ่มขึ้นอีก 1 ศาล คือ ศาลแขวงเชียงดาว โดยมีเขตอำนาจในท้องที่อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง และอำเภอเวียงแหง และให้เปิดทำการศาลแขวงเชียงดาว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
3. ในระหว่างที่ยังไม่ได้เปิดทำการศาลแขวงเชียงดาวให้ศาลแขวงเชียงใหม่มีเขตอำนาจตลอดถึงท้องที่อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง และอำเภอเวียงแหงด้วย
4. กำหนดให้บรรดาคดีของท้องที่อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง และอำเภอเวียงแหง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงเชียงดาวและค้างพิจารณาอยู่ในศาลแขวงเชียงใหม่ในวันเปิดทำการศาลแขวงเชียงดาว ให้คงพิจารณาพิพากษาต่อไปในศาลแขวงเชียงใหม่ และบรรดาคดีของท้องที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างที่ศาลแขวงเชียงใหม่มีคำสั่งให้ผัดฟ้องหรือให้ขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวน แล้วแต่กรณี ในวันเปิดทำการ ศาลแขวงเชียงดาว ให้ศาลแขวงเชียงใหม่มีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับการผัดฟ้องหรือขังระหว่างสอบสวนนั้นต่อไป
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการระดมทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการระดมทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยสลากออมทรัพย์ และรางวัลสลากออมทรัพย์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป และดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทั้งนี้ สำหรับดอกเบี้ยที่คำนวณตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวคาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้จากการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเบื้องต้น โดยสูญเสียภาษีสำหรับดอกเบี้ยสลากออมทรัพย์ในปี 2565 ประมาณ 126 ล้านบาท และสำหรับรางวัลสลากออมทรัพย์ประมาณ 9 ล้านบาท โดยสูญเสียภาษีในปี 2562 จำนวน 750,000 บาท ปี 2563 – 2564 จำนวนปีละ 3 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 2.25 ล้านบาท นอกจากนี้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ในรอบครึ่งปีหลังของปี 2562 ประมาณ 145 ล้านบาท และปีถัดไปประมาณปีละ 290 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ได้รับจากการยกเว้นภาษีดังกล่าวจะทำให้เป็นการเพิ่มช่องทางในการระดมทุนและเงินฝากระยะยาวของสถาบันฯ เพิ่มทางเลือกในการออมเงินให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยืมที่มีดอกเบี้ยต่ำ และมีโอกาสได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจดทะเบียนคนเกิดและคนตายที่มีขึ้นนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจดทะเบียนคนเกิดและคนตายที่มีขึ้นนอกราชอาณาจักร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. อนุมัติให้ถอนร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจดทะเบียนคนเกิดและคนตายที่มีขึ้นนอกราชอาณาจักร พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ตามมติคณะรัฐมนตรี 17 เมษายน 2555) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอได้ แล้วแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทราบต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดบุคคลที่สามารถแจ้งขอจดทะเบียนคนเกิดหรือคนตาย หลักฐานประกอบการขอจดทะเบียนคนเกิด คนตาย สถานที่ยื่นคำขอจดทะเบียนคนเกิดหรือคนตาย และหน้าที่ของนายทะเบียน
2. กำหนดให้กรณีที่ได้มีการแจ้งการเกิดหรือการตายตามกฎหมายของต่างประเทศไว้แล้ว ถ้ามีผู้แจ้งความประสงค์จะขอจดทะเบียนคนเกิดหรือคนตายตามกฎกระทรวงนี้ นายทะเบียนก็สามารถดำเนินการให้ได้
3. กำหนดให้กรณีคนเกิดนอกราชอาณาจักรหรือผู้ที่สามารถแจ้งขอจดทะเบียนคนเกิดหรือคนตายย้ายภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ไปยังประเทศอื่น สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนคนเกิดหรือคนตายพร้อมพยานหลักฐานต่อนายทะเบียนในประเทศที่ตนมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ได้
4. กำหนดให้กรณีคนเกิดนอกราชอาณาจักรหรือผู้ที่สามารถแจ้งขอจดทะเบียนคนเกิดหรือคนตายเดินทางกลับประเทศไทย สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนคนเกิดหรือคนตาย พร้อมพยานหลักฐานต่ออธิบดีกรมการกงสุลหรือบุคคลที่อธิบดีมีคำสั่งมอบหมายได้
5. กำหนดแบบคำขอจดทะเบียนและแบบใบรับจดทะเบียนคนเกิดและคนตาย ทะเบียนคนเกิดและทะเบียนคนตายให้เป็นไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนด
6. กำหนดให้กรณีที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ปฏิบัติในเรื่องใด ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดโดยอนุโลม
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “ลูกค้า” “บุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย” “ ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ” “ธุรกรรมเป็นครั้งคราว” ฯลฯ
2. กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ต้องดำเนินการประเมิน บริหาร และบรรเทาความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงอันเกิดจากลูกค้า พื้นที่หรือประเทศ ผลิตภัณฑ์ บริการ ธุรกรรม หรือช่องทางในการให้บริการ
3. กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ดำเนินการระบุตัวตันและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้า รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะธุรกิจของลูกค้า ตลอดจนโครงสร้างการบริหารจัดการหรือการเป็นเจ้าของ และอำนาจในการควบคุมนิติบุคคลหรือบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมายนั้นด้วย
4. กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงในระดับที่เข้มข้นที่สุด หากพบกว่าลูกค้ามีความเสี่ยงสูงจนอาจเป็นเหตุให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ต้องปฏิเสธการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ไม่ทำธุรกรรม ยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือไม่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวกับลูกค้าดังกล่าว และรายงานเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน
5. กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 อาจลดระดับความเข้มข้นในการดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำลงได้
6. กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ดำเนินการบริหารความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง สำหรับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวที่มีความเสี่ยงสูง โดยต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวดังกล่าวในระดับที่เข้มข้นที่สุด ในกรณีที่ลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวมีความเสี่ยงสูงจนอาจเป็นเหตุให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินหรือ การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ต้องไม่ทำธุรกรรมกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวดังกล่าว และรายงานเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน
7. กรณีที่มีการให้บริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าหมื่นบาทขึ้นไป สถาบันการเงินผู้ส่งคำสั่งโอนและสถาบันการเงินผู้รับคำสั่งโอนต้องดำเนินการส่งและรับข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอนพร้อมคำสั่งโอนเงิน โดยต้องจัดให้คำสั่งโอนเงินมีข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอน
8. กรณีการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับสถาบันการเงินตัวแทน ประเภทการชำระเงินโดยผ่านบัญชีโดยตรง สถาบันการเงินต้องรับรองได้ว่า สถาบันการเงินตัวแทนต้องดำเนินการบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและจะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและการตรวจสอบ เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้ารายนั้นแก่สถาบันการเงินตามที่ได้รับการร้องขอ
9. กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ต้องดำเนินการตามนโยบายและระเบียบวิธีการเกี่ยวกับการควบคุมภายในที่เหมาะสมกับความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงิน แก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงภายในองค์กรและขนาดธุรกิจของสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16
6. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารราชการในต่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารราชการในต่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารราชการในต่างประเทศ พ.ศ. 2552 ดังนี้
1. กำหนดให้ส่วนราชการที่ประสงค์จะจัดตั้งหน่วยงานในต่างประเทศ ทั้งกรณีที่มีผลเป็นการเพิ่มจำนวนหน่วยงานในต่างประเทศ และกรณีที่มีการยุบเลิกหรือรวมหน่วยงานในต่างประเทศที่มีอยู่เดิมและไม่มีผลเป็นการเพิ่มจำนวนหน่วยงานในต่างประเทศในภาพรวมของส่วนราชการนั้น ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนด ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศและไม่กระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ตลอดจนคำนึงถึงภาระด้านงบประมาณ ผลประโยชน์ ความคุ้มค่าของประเทศ และความเหมาะสม
2. กำหนดให้การจัดตั้งหน่วยงานในต่างประเทศ กรณีที่มีผลเป็นการเพิ่มจำนวนหน่วยงานในต่างประเทศนั้น ให้กระทำได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.พ.ร. แล้ว ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบดังกล่าว ให้ร่วมพิจารณากับผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. ผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทน กต.
3. กำหนดให้การจัดตั้งหน่วยงานในต่างประเทศ กรณีที่มีการยุบเลิก หรือเป็นผลจากการรวมหน่วยงานในต่างประเทศที่มีอยู่เดิมและไม่มีผลเป็นการเพิ่มจำนวนหน่วยงานในต่างประเทศนั้น ให้ดำเนินการตามหลักการ เงื่อนไข และขั้นตอนที่สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนด โดยเสนอคำขอจัดตั้งหน่วยงานในต่างประเทศดังกล่าวต่อคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงนั้น ๆ โดยให้แต่งตั้งปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นกรรมการเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง และให้ส่วนราชการถามความเห็นของ กต. เพื่อจัดทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการ ทั้งนี้ การจัดตั้งหน่วยงานในต่างประเทศในกรณีดังกล่าว ให้กระทำได้เมื่อได้รับแจ้งผลการตรวจสอบจากสำนักงาน ก.พ.ร. แล้ว
4. กำหนดให้การสั่งยุบเลิกหน่วยงานในต่างประเทศ ให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดแจ้งให้สำนักงาน ก.พ.ร. และ กต. ทราบด้วย
7. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 43) พ.ศ. 2530 พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 43) พ.ศ. 2530 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างประกาศ
เป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 43) พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2530
ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ เป็นการยกเลิกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการส่งออกสินค้ากุ้งและปลาหมึกแช่เย็นหรือแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกุ้งผสม ที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองด้านสุขอนามัย และผู้ส่งออกต้องเป็นสมาชิกสมาคมผู้ค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอาหารแช่เยือกแข็งไทย เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าปัจจุบันมีการตรวจสอบด้านสุขอนามัยในการส่งออกสินค้าดังกล่าว ซึ่งอยู่ในอำนาจของกรมประมงตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยไม่ขัดข้องต่อการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวหากภาครัฐกำกับดูแลผู้ประกอบการได้
8. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่ ในราชอาณาจักร พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่ ในราชอาณาจักร พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างประกาศ
ประเด็น |
รายละเอียด |
1. บทนิยาม |
- “เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต” หมายถึง เหล็กเส้นที่มีลักษณะหน้าตัดกลม หรือเหล็กเส้นกลมที่มีบั้งหรือครีบ ซึ่งอาจนำไปใช้เสริมคอนกรีตสำหรับงานก่อสร้างทั่วไปได้
- “เหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต” หมายถึง เหล็กแท่งเล็กสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีภาคตัดขวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือเหล็กแท่งเล็กสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีภาคตัดขวางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีด้านยาวไม่เกิน 1.25 เท่าของด้านกว้าง โดยมีความยาวด้าน 50 มิลลิเมตร ถึง 150 มิลลิเมตร |
2. กำหนดการห้ามตั้งหรือขยายโรงงาน |
- กำหนดห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือโรงงานผลิตเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ซึ่งรวมถึงโรงงานที่ใช้เครื่องจักรที่สามารถนำไปใช้รีดเหล็กเส้นได้ ทุกขนาด ทุกท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร |
3. กำหนดข้อยกเว้น (โรงงานที่ไม่อยู่ในบังคับของประกาศฉบับนี้) |
- ประกาศฉบับนี้มิให้ใช้บังคับกับ
(1) โรงงานที่ผลิตเหล็กเพลา เหล็กลวดหรือเหล็กรูปพรรณที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีรีดร้อน หรือลวดเหล็กที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีการรีดเย็นที่ได้รับเอกสารการตรวจสอบกระบวนการผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และลูกรีด จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(2) การขอตั้งหรือขยายโรงงานที่ได้ยื่นคำขอเกี่ยวกับการตั้งหรือขยายโรงงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แล้วแต่กรณี และได้รับความเห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ |
9. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงเพื่อปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
1.1 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
1.2 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้
1.3 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ เป็นการกำหนดให้กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับเงินได้ (ประเภทดอกเบี้ย) ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากรและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้
ทั้งนี้ กำหนดให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามร่างพระราชกฤษฎีกาฯ และการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามร่างกฎกระทรวงฯ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป
10. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการขออนุญาต การตรวจสอบ และการออกใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร พ.ศ. …. 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขอ และการออกใบแทนใบอนุญาตการย้ายสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาต พ.ศ. …. 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเครื่องหมายมาตรฐาน และหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. …. รวมจำนวน 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการขออนุญาต การตรวจสอบ และการออกใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร พ.ศ. ….
1.1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการขออนุญาต การตรวจสอบและการออกใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2549
1.2 กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตและได้รับการตรวจสอบตามที่กำหนด
1.3 กำหนดให้ใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนด
1.4 กำหนดให้ใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร ที่ออกให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ
1.5 กำหนดให้บรรดาคำขอรับใบอนุญาตที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าคำขอนั้นเป็นคำขอตามกฎกระทรวงนี้โดยอนุโลม
2.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขอ และการออกใบแทนใบอนุญาตการย้ายสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาต พ.ศ. ….
2.1 กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขอและการออกใบแทนใบอนุญาต การย้ายสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาต พ.ศ. 2551
2.2 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะขอรับใบแทนใบอนุญาต ใบอนุญาตให้ย้ายสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และใบอนุญาตให้โอนใบอนุญาต จะต้องยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาต คำขอย้ายสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต หรือคำขอโอนใบอนุญาตตามที่กำหนด
2.3 กำหนดให้ใบแทนใบอนุญาต ให้ใช้ตามแบบใบอนุญาตปัจจุบันที่กำหนด โดยมีสาระสำคัญตามใบอนุญาตเดิม แต่ให้มีข้อความว่า “ใบแทน”
2.4 กำหนดให้ใบอนุญาตให้ย้ายสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และใบอนุญาตให้โอนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนด
3.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเครื่องหมายมาตรฐาน และหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ….
3.1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเครื่องหมายมาตรฐานสำหรับแสดงกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2549 และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2550
3.2 กำหนดลักษณะของเครื่องหมายมาตรฐานสำหรับแสดงกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
3.3 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร เป็นผู้จัดทำเครื่องหมายมาตรฐานตามข้อ 3.2 และให้มีวิธีการตรวจสอบได้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนด
3.4 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร จะต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามที่กำหนด
3.5 การแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มี ผลใช้บังคับให้ใช้ได้ต่อไปภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่กฎกระทรวงนี้มีผลบังคับใช้
3.6 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
11. เรื่อง แนวทางการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักรและร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบแนวทางการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักรของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
2. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนแล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. แนวทางการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร มีสาระสำคัญ ดังนี้
แนวทาง |
การดำเนินการ |
แนวทางการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร |
กำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร ตามมาตรา 17 (18) แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 โดยเป็นสูตรการคำนวณราคาที่ประกอบด้วยข้อมูลต้นทุนการผลิตอ้อย ต้นทุนการผลิตน้ำตาลทราย ค่าจัดการจำหน่าย และผลตอบแทนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย และแนวทางปฏิบัติในการใช้ข้อมูลและวิธีการคำนวณค่าเพื่อการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักรและขอใช้แนวทางดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 จะแล้วเสร็จ |
2. ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
1. การกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร |
กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายออกประกาศราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก่อนเริ่มต้นฤดูการผลิต โดยกำหนดสูตร การคำนวณราคาน้ำตาลทรายในราชอาณาจักร ประกอบด้วย ผลรวมของต้นทุนการผลิตอ้อย บวกด้วยต้นทุนการผลิตน้ำตาลทราย บวกด้วยค่าจัดการจำหน่าย บวกด้วยผลตอบแทนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย (เดิมให้คณะกรรมการกำหนดราคาขายสำรวจราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนหมายเลข 5 บวกกับค่าพรีเมียมน้ำตาลทรายไทย) |
2. กรณีกำหนดต้นทุนการผลิตอ้อยหรือต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายไม่ทันการเริ่มต้นฤดูการผลิต |
ให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายใช้ค่าตัวแปรในการปรับเพิ่มหรือปรับลด ต้นทุนการผลิตอ้อย หรือต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายของปีการผลิตก่อนหน้า ได้แก่ ค่าดัชนีผู้บริโภค ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ย ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนด เพื่อใช้กำหนดเป็นต้นทุนการผลิตอ้อยหรือต้นทุนการผลิตน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตนั้น ๆ ไปจนกว่าจะได้ข้อมูลต้นทุนการผลิตอ้อยจากคณะกรรมการอ้อย หรือต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายจากคณะกรรมการ
น้ำตาลทราย |
12. เรื่อง ข้อเสนอการปรับปรุงโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบการปรับปรุงโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (โครงการ นปร.) ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ส่วนการขอขยายอัตรากำลังจาก 120 อัตรา เป็น 150 อัตรา ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 - 2565) ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
2. กรณีที่จะมีการปรับปรุงรายละเอียดของโครงการ นปร. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ดำเนินการปรับปรุงโครงการ นปร. ได้ โดยเสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการพิจารณา
3. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางในการจัดสรรนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ภายหลังจากที่จบโครงการแล้ว ให้โอนไปปฏิบัติงานตามหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความต้องการกำลังคนเพิ่มเติมภายใต้กรอบอัตรากำลังของหน่วยงานตนเองสามารถรับโอนนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ไปปฏิบัติงานได้ทันที โดยไม่ต้องเสียงบประมาณในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเอง รวมทั้งเพื่อให้นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ที่กระจายไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องนี้เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (10 พฤษภาคม 2548 และ 8 เมษายน 2551) เห็นชอบให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (โครงการ นปร.) ปีงบประมาณละ 1 รุ่น รุ่นละ 60 คน โดยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลัง จำนวน 120 อัตรา เพื่อใช้หมุนเวียนสำหรับการบรรจุแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการ นปร. [เนื่องจากโครงการ นปร. มีระยะเวลาอบรมยาว 22 เดือน (1ปี 10 เดือน) ดังนั้น ภายในหนึ่งปีงบประมาณจึงประกอบไปด้วย นปร. ที่ยังอยู่ในโครงการรวมกัน 2 รุ่น ก.พ. จึงมีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลัง จำนวน 120 อัตรา] ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินโครงการ นปร. มาแล้ว 15 ปี (ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ 2547 – 2562) สามารถผลิต นปร. ที่จบโครงการไปแล้วทั้งหมด 11 รุ่น จำนวน 378 คน และมี นปร. ที่กำลังอยู่ในโครงการอีก 2 รุ่น (รุ่นที่ 12 และ 13) จำนวน 77 คน รวมทั้งสิ้น 455 คน อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ นปร. ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ใช้แนวทางในการสรรหา คัดเลือก พัฒนา และประเมินผล นปร. ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังกล่าว แต่เนื่องจากบริบทแวดล้อมต่าง ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเห็นว่า จำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงการ นปร. เพื่อให้ นปร. มีสมรรถนะเหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2562 มีมติเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงโครงการ นปร. รวมทั้งขอขยายกรอบอัตรากำลังจาก 120 อัตรา เป็น 150 อัตรา ซึ่งมีรายละเอียดที่ขอปรับเปลี่ยนโครงการ นปร. สรุปได้ ดังนี้
รายละเอียดโครงการ นปร. |
หัวข้อ |
ตามมติคณะรัฐมนตรี (10 พฤษภาคม 2548 และ 8 เมษายน 2551) และตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ปรับเพิ่มเติมตามความเหมาะสม (เดิม) |
ตามที่เสนอในครั้งนี้ (ใหม่) |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อพัฒนา นปร. ให้เป็นได้ทั้งนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ (Visionary Thinker) นักพัฒนาและวางแผน (Developer and Planner) และนักปฏิบัติ (Operator) อย่างสมดุล รวมทั้งสามารถนำยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถนำนวัตกรรมด้านการบริหารใหม่ ๆ มาพัฒนาหน่วยงานภาครัฐที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ |
เพื่อพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการ นปร. ให้เป็นข้าราชการที่มีความสามารถสูง มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่มีวิสัยทัศน์และสมรรถนะครบครันในการปฏิบัติงาน สามารถริเริ่มปรับตัว และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของระบบราชการโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน สังคม และประเทศชาติ |
กลุ่มเป้าหมาย |
- กลุ่มที่ 1 : กลุ่มนักศึกษาที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่ได้รับการรับรอง อายุไม่เกิน 30 ปี
- กลุ่มที่ 2 : กลุ่มข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป อายุไม่เกิน 30 ปี
- กลุ่มที่ 3 : กลุ่มบุคคลภายนอกที่ทำงานภาคเอกชน หน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป อายุไม่เกิน 30 ปี
สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก กำหนดให้อายุไม่เกิน 35 ปี |
เหมือนเดิม |
เงื่อนไขการบรรจุให้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานภาครัฐ |
1. หลักเกณฑ์และวิธีการบรรจุ แต่งตั้ง และการให้ได้รับเงินเดือน
1.1 การบรรจุและแต่งตั้งจากกลุ่มบุคคลทั่วไปและกลุ่มที่มีประสบการณ์ในการทำงานภาคเอกชน หน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศเข้ารับราชการ
(1) ให้บรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักพัฒนาระบบราชการระดับปฏิบัติการ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยให้ได้รับเงินเดือนตามคุณวุฒิ
(2) กรณีที่สำนักงาน ก.พ.ร. ประสงค์จะนำประสบการณ์ในการทำงานภาคเอกชน หน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อราชการ มาประกอบการพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งในระดับที่สูงกว่าระดับแรกบรรจุและรับเงินเดือนสูงกว่าคุณวุฒิ นั้น ให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) หรือคณะกรรมการที่ ก.พ.ร. แต่งตั้งเป็นผู้พิจารณาตามแนวทางที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด
1.2 การบรรจุและแต่งตั้งจากกลุ่มข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ ให้รับโอนมาแต่งตั้งหรือรับโอนมาบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักพัฒนาระบบราชการ ในระดับที่ไม่สูงกว่าเดิมและรับเงินเดือนตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2551
2. หลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนระดับให้ดำเนินการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/151 ลงวันที่ 18 มกราคม 2553 และ ด่วนที่สุด ที่ นร 1006/1206 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553 |
เหมือนเดิม |
การคัดเลือก |
ขั้นตอนที่ 1 การทดสอบความรู้พื้นฐาน ได้แก่ (1) วิชาความสามารถทางภาษาไทย (2) วิชาความถนัดทางเชาวน์ปัญญา และ (3) วิชาความสามารถทางภาษาอังกฤษ (Chulalongkorn University Test of English Proficiency : CU - TEP)
ขั้นตอนที่ 2 การทดสอบข้อเขียน เพื่อทดสอบความรู้ ความสนใจ และวิสัยทัศน์ในด้านต่าง ๆ
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินความเหมาะสมทางบุคลิกภาพ พฤติกรรม และเชาวน์อารมณ์ ได้แก่ (1) การทดสอบวัดความถนัด (Aptitude Test) การทดสอบด้านจิตวิทยา (Psychological Test) และการประเมินพฤติกรรมด้วยวิธีการ Assessment Center และ (2) การประเมินบุคลิกภาพด้วยการสอบสัมภาษณ์ |
เหมือนเดิม |
แนวทางการพัฒนา นปร. |
มีการกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาระยะเวลา 22 เดือน ดังนี้
(1) ด้านวิชาการ ระยะเวลา 10 เดือน
(2) ด้านการฝึกปฏิบัติราชการ ระยะเวลา 12 เดือน ดังนี้
- การปฏิบัติราชการในหน่วยงานส่วนภูมิภาค เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- การฝึกปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- การปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- การปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาคเอกชน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
|
มีการกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาระยะเวลา 22 เดือน ในลักษณะ Customized Program โดยส่วนราชการจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา นปร. ตั้งแต่อยู่ในโครงการ นปร. ดังนี้
(1) ด้านวิชาการ ระยะเวลา 9 เดือน
(2) ด้านการฝึกปฏิบัติราชการ ระยะเวลา 13 เดือน ได้แก่
- การปฏิบัติราชการในหน่วยงานส่วนภูมิภาค เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- การฝึกปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐ รอบที่ 1 เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- การปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ เป็นระยะเวลา 2 เดือน
- การปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาคเอกชน เป็นระยะเวลา 2 เดือน
- การฝึกปฎิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐ รอบที่ 2 เป็นระยะเวลา 3 เดือน |
การประเมินผล |
ประกอบด้วย (1) การประเมินผลการเรีนรู้ของ นปร. โดยมีการประเมินผลทั้งระหว่างอยู่ในโครงการและประเมินผลเพื่อจบโครงการ และ (2) ประเมินผลโครงการ นปร. โดยสำรวจความพึงพอใจของ นปร. ผู้ผ่านการพัฒนา หัวหน้าหน่วยงานที่ นปร. ได้เรียนรู้และฝึกงาน ตลอดจนหน่วยงานที่รับ นปร. ที่ผ่านการพัฒนาบรรจุเข้ารับราชการ |
ประกอบด้วย การประเมินผลระหว่างเข้าร่วมโครงการ นปร. และการประเมินเพื่อเป็นผู้ผ่านโครงการ นปร. โดยมี 5 องค์ประกอบ ดังนี้ (1) การประเมินความรู้ทางวิชาการ (2) การประเมินการฝึกปฏิบัติราชการ (3) การประเมินสมรรถนะหลัก (ได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม / การสร้างความร่วมมือในการทำงานเป็นทีม / การเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง / การคิดวิเคราะห์และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา / การสื่อสารและการใช้ภาษา) (4) การประเมินสมรรถนะเฉพาะตามสายอาชีพ และ (5) การประเมินพฤติกรรม |
13. เรื่อง ขอความเห็นชอบการกู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2562 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2562 จำนวน 2 แผนงาน ภายในกรอบวงเงินรวม 1,825 ล้านบาท โดยให้ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นรายปีจนกว่าการดำเนินงาน จะแล้วเสร็จ สรุปได้ ดังนี้
แผนงานระยะยาวใหม่ |
วงเงินกู้ในประเทศ (ล้านบาท) |
1) แผนงานพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ระยะที่ 1 |
825 |
2) แผนระยะยาวการก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน |
1,000 |
รวมทั้งสิ้น |
1,825 |
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงมหาดไทย (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2562
จำนวน 2 แผนงาน รวมทั้งสิ้น 1,825 ล้านบาท สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
แผนงานระยะใหม่ |
รายละเอียดของแผนงาน |
วงเงินเต็มแผนงาน |
แหล่งเงินทุน |
เงินกู้ในประเทศ |
เงินรายได้ |
1) แผนงานพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ระยะที่ 1 |
- ปรับปรุงและติดตั้งระบบไมโครกริดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายไฟให้เพียงพอต่อการใช้งานแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเพื่อเพิ่มความมั่นคง ด้านการจ่ายไฟให้กับพื้นที่เสี่ยงภัยใน 3 พื้นที่ อำเภอแม่สะเรียงและอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โดยจะดำเนินการ นำร่องในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา)
|
1,100 |
825 |
275 |
2) แผนงานระยะยาวการก่อสร้างเคเบิล ใต้ดิน |
- ก่อสร้างและปรับปรุงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ให้เกิดความมั่นคงและเชื่อถือได้ รวมทั้งเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความประสงค์จะปรับปรุงเรื่องดังกล่าวโดยจะดำเนินการในพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้ง 12 เขต (ครอบคลุม 74 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ) |
1,350 |
1,000 |
350 |
รวมทั้งสิ้น |
2,450 |
1,825 |
625 |
ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 และอยู่ภายใต้กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ประจำปีงบประมาณ 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561
14. เรื่อง รายงานผลการหารือโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอผลการหารือโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (27 สิงหาคม 2562) เห็นชอบหลักการโครงการฯ ภายในกรอบวงเงิน 25,482.06 ล้านบาท ตามที่ กค. เสนอ และให้ กค. หารือในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ (สงป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินโครงการ (ราคาต่อไร่ จำนวนไร่) และค่าชดเชยต้นทุนเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนก่อน โดยพิจารณาให้อยู่ในขอบเขตที่รัฐสามารถรับภาระได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งให้อยู่ภายในกรอบสัดส่วนวงเงินตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้
2. กค. ได้หารือร่วมกับ สงป. และ ธ.ก.ส. เรียบร้อยแล้ว โดยจะสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ที่ 500 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ และค่าชดเชยต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ในอัตรา FDR 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. + 1 หรือเท่ากับร้อยละ 2.40 ต่อปี (FDR 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. ณ เดือนกรกฎาคม 2562 เท่ากับร้อยละ 1.40) คิดเป็นวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 25,427.48 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายในกรอบวงเงินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 และให้ใช้อัตราต้นทุนเงินดังกล่าวกับโครงการอื่นที่มีการมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายเงินในลักษณะเดียวกันด้วย
|
ข้อเสนอของ กค. |
ความเห็นของ สงป. |
ข้อสรุปร่วมกัน |
ค่าชดเชย
ต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. ในอัตรา FDR + 1 |
ร้อยละ 2.62 ต่อปี
(FDR = 1.62) |
ร้อยละ 2.175 ต่อปี
(FDR = 1.175) |
ร้อยละ 2.40 ต่อปี
(FDR = 1.40) |
15. เรื่อง มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการขยายเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาและมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรฯ ได้ชำระ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สาระสำคัญ
กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอขยายเวลามาตรการบรรเทาฯ และมาตรการชดเชยเงินฯ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- การขยายเวลามาตรการบรรเทาฯ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
- วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
ได้แก่ ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เพื่อให้ผู้มีบัตรฯ มีภาระค่าครองชีพลดลง
- การดำเนินการ การขยายเวลามาตรการบรรเทาฯ จะเป็นการดำเนินการคงเดิมตามมติ
คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 มีสาระสำคัญ ดังนี้
- กรณีค่าไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน
ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่หากใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ในวงเงิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรฯ เป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด
- กรณีค่าน้ำประปา ให้ใช้น้ำประปาในวงเงิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรฯ เป็นผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด
ทั้งนี้ ผู้มีบัตรฯ ต้องนำใบแจ้งค่าไฟฟ้าและใบแจ้งค่าน้ำประปาไปชำระที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สำนักงานการประปานครหลวง และสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งแสดงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยทุกสิ้นเดือนการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค จะส่งบันทึกรายชื่อผู้มีบัตรฯ ที่ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาภายใต้วงเงินที่กำหนดให้กรมบัญชีกลาง เพื่อที่กรมบัญชีกลางจะนำเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมมาจ่ายคืนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่อง e-Money ของเดือนถัดไป ซึ่งผู้มีบัตรฯ สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการผ่านเครือง EDC แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ และถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้
1.3
กลุ่มเป้าหมาย ผู้มีบัตรฯ จำนวน 14.6 ล้านคน คิดเป็นครัวเรือนประมาณ 8.2 ล้านครัวเรือน (1 ครัวเรือนใช้ได้เพียง 1 สิทธิเท่านั้น)
1.4
ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563 รวมเป็นระยะเวลา 1 ปี
1.5
งบประมาณ ประมาณการสำหรับค่าไฟฟ้า 1,740 ล้านบาทต่อปี (145 ล้านบาทต่อเดือน) ประมาณการสำหรับค่าน้ำประปา 30 ล้านบาทต่อปี (2.50 ล้านบาทต่อเดือน) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,770 ล้านบาทต่อปี (147.50 ล้านบาทต่อเดือน) โดยจะใช้จ่ายจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
2.
มาตรการชดเชยเงินฯ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1
วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยลดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีบัตรฯ สนับสนุนให้มีจำนวนผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
2.2
การดำเนินการ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1)
ชดเชยเงินให้แก่ผู้มีบัตรฯ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรฯ ได้ชำระราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค (ไม่รวมสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากร้านธงฟ้าประชารัฐหรือร้านค้าเอกชนอื่นที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านเครื่อง EDC ที่มีการเชื่อมต่อระบบเครื่อง POS ที่เป็นระบบช่วยเก็บบันทึกการขาย รายละเอียดสินค้า คำนวณยอดขาย และออกใบกำกับภาษี ซึ่งระบบ POS สามารถแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากสินค้าและบริการรวมทั้งรับและส่งข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
2)
ข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรฯ ได้ชำระราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค (ไม่รวมสิ้นค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ร้านตามข้อ 1) จะส่งให้กรมบัญชีกลางโดยระบบจะแยกยอดภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ออกจากราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ผู้มีบัตรฯ ได้ชำระแล้ว และกรมบัญชีกลางจะนำเงินร้อยละ 5 มาจ่ายชดเชยโดยโอนเข้าช่อง e-Money ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีบัตรฯ ในวงเงินไม่เกินจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน
2.3
กลุ่มเป้าหมาย ผู้มีบัตรฯ จำนวน 14.6 ล้านคน
2.4
ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563 (ระยะเวลา 11 เดือน)
2.5
งบประมาณ ประมาณการ 99.30 ล้านบาท (ประมาณ 8.16 ล้านบาทต่อเดือน) โดยจะใช้จ่ายจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ครั้งที่ 4/2562 มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ผลกระทบ
การดำเนินการขยายเวลามาตรการบรรเทาฯ และมาตรการชดเชยเงินฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบ ดังนี้
- บรรเทาภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และช่วยลดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีบัตรฯ
- ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านค้าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนให้กับประเทศ
- ส่งเสริมเข้าสู่สังคมไร้เงินสด อันจะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการเงิน
16. เรื่อง แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ
2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดกิจกรรม/โครงการและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ต่อไป
3. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 (เรื่องแนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี)
สาระสำคัญ
แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. กรอบแนวคิด
ใช้หลักการจัดการเชิงรุกที่เน้นการป้องกันผลกระทบล่วงหน้า โดยการสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง/พื้นที่ที่มีปัญหามลพิษ และคำนึงถึงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยหรือสิ่งแวดล้อม
2. ตัวชี้วัด
1) จำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น
2) จำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ลดลง
3. มาตรการ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่
1)
มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่
เป็นการควบคุมมลพิษในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง เป็นการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน เพื่อควบคุมพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละออง ได้แก่ 9 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (ประสบปัญหาหมอกควัน) พื้นที่หน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี และพื้นที่เสี่ยงปัญหาฝุ่นละอองอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น โดยแนวทาง การดำเนินงานประกอบด้วย การทบทวน ประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุง แผนเผชิญเหตุ/แผนตอบโต้สถานการณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในช่วงเกิดวิกฤตสถานการณ์ โดยใช้กลไกการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ซึ่งมีกลไกการสั่งการตามปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM
2.5 ดังนี้
ระดับที่ 1 PM
2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินภารกิจตามสภาวะปกติ
ระดับที่ 2 PM
2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงาน ดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น
ระดับที่ 3 PM
2.5 มีค่าระหว่าง 76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ
ระดับที่ 4 PM
2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เสนอให้จัดการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอมาตรการต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ
2)
มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) โดยมีแนวทางการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
-
ระยะสั้น (พ.ศ. 2562 – 2564)
(1) ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยใช้มาตรการจูงใจ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาจำหน่ายก่อนกฎหมายบังคับใช้ บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 5 ภายในปี 2564 ควบคุมการนำรถยนต์ที่ใช้แล้ว ในต่างประเทศ (ใช้ส่วนตัว) เข้ามาในประเทศไทย ควบคุมการนำเข้าเครื่องยนต์เก่าใช้แล้ว (ทั้งรถและเรือ)ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศไทยบังคับใช้อยู่ ณ เวลาที่นำเข้า และต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี ปรับปรุงมาตรฐานและวิธีการตรวจวัดการระบายมลพิษจากรถยนต์ ปรับลดอายุรถที่จะเข้ารับการตรวจสภาพรถประจำปีพัฒนา ระบบการตรวจสภาพรถยนต์ และพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสภาพใช้มาตรการจูงใจ/ส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซื้อทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ศึกษาความเหมาะสมในการจำกัดอายุการใช้งานรถยนต์และระบบการจัดการซากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน
(2) ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตร โดยให้มีการใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตรเพื่อไม่ให้มีการเผา ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นอื่นทดแทนพืชเชิงเดี่ยว/พืชที่มีการเผาห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งป้องกันการเกิดไฟป่าและจัดการไฟป่า ใช้มาตรการทางสังคมกับผู้ลักลอบเผาป่า
(3) ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง โดยกำหนดกฎระเบียบ มาตรการและเกณฑ์ปฏิบัติในการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง กำหนดให้การจัดทำผังเมืองและการก่อสร้างต้องคำนึงถึงการแพร่กระจายของมลพิษ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง รวมถึงการรณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้องค์กรรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินโครงการและกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในการเพิ่มและการจัดการพื้นที่สีเขียว รวมถึงผลักดัน การก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
(4) ควบคุมและลดมลพิษจากอุตสาหกรรม โดยกำหนดมาตรฐาน การระบายมลพิษทางอากาศในรูปของอัตราการระบาย (Loading) ตามศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ให้ติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่องที่ปล่องของโรงงานอุตสาหกรรม จำพวก 3 เตาเผาเชื้อเพลิงและหม้อน้ำหรือแหล่งกำเนิดความร้อนที่มีขนาดตามที่กำหนด
(5) ควบคุมและลดมลพิษจากภาคครัวเรือน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มและเตาปิ้งย่างปลอดมลพิษ พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาเผาอิฐและถ่านปลอดมลพิษ
- ระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2567)
(1) ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 ภายในปี 2565 บังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุง/แก้ไขการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ใช้งาน ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วทุกประเภท ควบคุมการระบายฝุ่นจากการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือและจากเรือสู่เรือ ควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศจาก Non-road Engine
(2) ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง โดยให้มีการใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตรเพื่อไม่ให้มีการเผา ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด ป้องกันการเกิดไฟป่าและจัดการไฟป่า ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นอื่นทดแทนพืชเชิงเดี่ยว/พืชที่มีการเผา ให้มีการพิจารณา การพัฒนาระบบหรือยกระดับโดยผนวกมิติด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับพืชที่มีการเผาให้มีความเข้มงวด ใช้มาตรการหรือกลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการทางสังคม ผลักดัน ให้เกิดแนวทางรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทางการเกษตร ไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้ ร้อยละ 100 ในปี 2565 (มติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562)
(3) ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง โดยกำหนดกฎระเบียบ มาตรการและเกณฑ์ปฏิบัติในการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง กำหนดให้การจัดทำผังเมืองและการก่อสร้างต้องคำนึงถึงการแพร่กระจายของมลพิษ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง รวมถึงผลักดันการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
(4) ควบคุมและลดมลพิษจากอุตสาหกรรม โดยทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า
(5) ควบคุมและลดมลพิษจากภาคครัวเรือน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มและเตาปิ้งย่างปลอดมลพิษ พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาเผาอิฐและถ่านปลอดมลพิษ
3)
มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ
เป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกการบริหารจัดการ การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ โดยมีแนวทางการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
- ระยะสั้น (พ.ศ. 2562 - 2564)
(1) พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยขยายเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและให้ท้องถิ่นติดตามตรวจสอบในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นในการดำเนินการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
(2) ทบทวน/ปรับปรุงกฎหมาย/มาตรฐาน/แนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับค่ามาตรฐาน PM
2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ยรายปี ตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมเรื่องกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act)
(3) ส่งเสริมการวิจัย/พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบ การตรวจวิเคราะห์ และนวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้
(4) การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดนและแผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 เพื่อป้องกันมลพิษ จากหมอกควันข้ามแดน การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศโดยใช้กลไก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอาเซียน ระดับคณะกรรมการชายแดนภายใต้กลไกกระทรวงกลาโหม และระดับจังหวัดชายแดนคู่ขนาน รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดนจากการขนส่ง
(5) จัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด
(6) พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังที่เป็นหนึ่งเดียว
(7) พัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง
- ระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567)
(1) พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ
(2) ทบทวน/ปรับปรุงกฎหมาย/มาตรฐาน/แนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยพิจารณาความเหมาะสมการปรับค่ามาตรฐาน PM
2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตามเป้าหมายที่ 3 ของ WHO
(3) ส่งเสริมการวิจัย/พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบ การตรวจวิเคราะห์ และนวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ เช่น เครื่องมือการตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเซนเซอร์ เป็นต้น
(4) การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน และข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน
4. กลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ให้มีการจัดตั้งศูนย์ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับจังหวัด โดยใช้กลไกการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการในช่วงเกิดวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง และใช้กลไกของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ออกกฎระเบียบ/แนวทาง/ข้อบังคับในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง รวมถึงใช้กลไกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกลไกหลักร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
17. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ถึงเวลาทัวร์ ให้ทั่วไทย” สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยว
แห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินการโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ถึงเวลาทัวร์ ให้ทั่วไทย” จำนวน 2 มาตรการ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 116,000,000 บาท
ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการใช้จ่ายงบกลางรายการดังกล่าวแล้ว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะต้องจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางตามมาตรการภายใต้โครงการดังกล่าว เช่น การคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการ การคัดเลือกประเภทของสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว
การคัดสรรบริการ/แพ็คเกจท่องเที่ยว รวมทั้งวิธีการ ขั้นตอนในการจัดซื้อแพ็คเกจจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว
โดยคำนึงถึงภารกิจของหน่วยงาน โดยบูรณาการร่วมกับมาตรการชิมช้อปใช้ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายและจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอน โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด การดำเนินการจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด โดยพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์กับประชาชน ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงิน
การคลังของรัฐ พ.ศ 2561 นอกจากนี้ควรมีการติดตามและควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการของโครงการที่กำหนดไว้ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ
ด้วยในปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ททท. กำหนดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ถึงเวลาทัวร์
ให้ทั่วไทย” ในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2562 โดยร่วมกับหน่วยงานในภาครัฐและภาคเอกชน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ตลอดทั้งกลุ่มธนาคารในประเทศไทย สมาคม สมาพันธ์ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสายการบิน ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และวิสาหกิจชุมชน ในการกระตุ้นการเดินทางและใช้จ่ายให้เกิดขึ้นอย่างถ้วนทั่วทุกพื้นที่และทุกภาคส่วนธุรกิจให้มากที่สุด รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดเล็ก ได้เพิ่มศักยภาพและยกระดับการบริหารธุรกิจ
เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการเพิ่มรายได้ของประเทศ
การดำเนินโครงการ/กิจกรรมของ ททท. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ที่สำคัญดังกล่าวข้างต้น ททท. จึงเสนอโครงการ รวม 2 มาตรการ ค่าใช้จ่ายจำนวนเงินทั้งสิ้น 116,000,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.
มาตรการส่งสริมการท่องเที่ยว “ร้อยเดียว เที่ยวทั่วไทย” โดยร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ที่พัก สายการบิน สปา แหล่งท่องเที่ยว และ สมาคมต่าง ๆ เพื่อซื้อแพ็คเกจในราคาพิเศษ เพื่อมานำเสนอขายในราคา 100 บาท จำนวน 10,000 รายการ/ต่อรอบการจัดกิจกรรม รวมทั้งหมด 40,000 รายการ โดยการลงทะบียนเพื่อร่วมซื้อแพ็คเกจทาง official line ของ ททท. เพื่อรับสิทธิ์ใน link สู่หน้าการซื้อ package โดยจะสามารถซื้อได้คนละ 1 รายการเท่านั้น โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย Gen X Gen Y และกลุ่มผู้มีกำลังการใช้จ่ายในระดับปานกลาง ค่าใช้จ่ายจำนวนเงินทั้งสิ้น 63,500,000 บาท
2.
มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว “เที่ยววันธรรมดา ราคา SHOCK โลก” ผ่านการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรกลุ่มที่ให้บริการสินค้าทางการท่องเที่ยวกลุ่มหรูหรา (Luxury) ได้แก่ โรงแรมที่พัก บริษัทนำเที่ยว สายการบิน แบรนด์สินค้าชั้นนำ ศูนย์การค้า สปา โรงพยาบาล ร้านอาหาร ร้านจิลเวลรี่ สวนสนุกและบริการต่าง ๆ โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในราคาพิเศษสุด (Sales Promotion) ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์และโปรแกรมบริการพิเศษต่าง ๆ ให้กับ นักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา ผ่านจัดทำ Mini Site เว็บไซต์ และ Mobile Platform และกลไกการกระตุ้นการตลาดผ่าน Online Campaign และการประชาสัมพันธ์โครงการให้ทั่วถึง ค่าใช้จ่ายจำนวนเงินทั้งสิ้น 52,500,000 บาท
18. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 1 วงเงิน 2,282.98 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 24 จังหวัด) ของกรมทางหลวง และ กรมทางหลวงชนบท
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกฉียงเหนือ จำนวน 24 จังหวัด ภายในวงเงิน 2,282,980,000 บาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง จำนวน 1,374.60 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 908.38 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยเบิกจ่ายในงบลงทุน และขอให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และจัดทำประมาณการค่าก่อสร้างเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณและเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2563 มีผลใช้บังคับ ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท หักงบประมาณที่ได้รับเพื่อการบูรณะ/ซ่อมแซม ที่ได้ดำเนินการในพื้นที่เดียวกันกับแผนงานที่จะดำเนินการในงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ
กระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจากกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นครั้งที่ 1 จำนวน 218 รายการ วงเงิน 2,282.98 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.
กรมทางหลวงเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 1 จำนวน 125 รายการ วงเงิน 1,374.60 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 22 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชุมพร เชียงใหม่ น่าน พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี) โดยมีความเสียหายที่จะต้องใช้งบประมาณในการบูรณะ/ซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สรุปได้ ดังนี้
1) งานซ่อมสะพาน จำนวน 5 รายการ วงเงิน 115 ล้านบาท
2) ก่อสร้างสะพานใหม่ จำนวน 1 รายการ วงเงิน 30 ล้านบาท
3) งานแก้ไขและป้องกันดินสไลด์ คันทางสไลด์ จำนวน 55 รายการ วงเงิน 462.64 ล้านบาท
4) งานฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ (งานสะพาน) จำนวน 64 รายการ วงเงิน 766.96 ล้านบาท
2.
กรมทางหลวงชนบทเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 1 จำนวน 93 รายการ วงเงิน 908.38 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิจิตร พิษณุโลก มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด สกลนคร สุโขทัย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี) โดยมีความสียหายที่จะต้องใช้งบประมาณในการบูรณะ/ซ่อมแซมให้กลับคืน สู่สภาพเดิม สรุปได้ ดังนี้
1) ซ่อมสร้างผิวทาง/ไหล่ทาง/คันทาง จำนวน 60 รายการ วงเงิน 502.16 ล้านบาท
2) ถนนขาด/สะพาน/คอสะพานขาด พร้อมเชิงลาด จำนวน 16 รายการ วงเงิน 356.18 ล้านบาท
3) ก่อสร้างโครงสร้างระบายน้ำ จำนวน 6 รายการ วงเงิน 22.38 ล้านบาท
4) งานป้องกันการกัดเซาะ จำนวน 11 รายการ วงเงิน 27.66 ล้านบาท
19. เรื่อง การลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เสนอ ในกรอบวงเงิน 55,400,000,000 บาท โดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณของ กนอ. ร่วมลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 12,900,000,000 บาท โดย กนอ. จะชำระให้เอกชนที่ร่วมลงทุน ในช่วงที่ 1 จำนวน 710 ล้านบาท/ปี เป็นระยะเวลา 30 ปี และเอกชนร่วมลงทุน จำนวน 42,500,000,000 บาท
สาระสำคัญของเรื่อง
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
องค์ประกอบ |
รายละเอียด |
ช่วงดำเนินการ
และสิทธิในการใช้พื้นที่ |
จำนวนเงินลงทุน
(ล้านบาท) |
แหล่งเงินทุน |
โครงสร้างพื้นฐาน
(Infrastructure) |
งานขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น
· พื้นที่ถมทะเลหลังท่าเพื่อใช้งานประมาณ 550 ไร่ (เพื่อก่อสร้างท่าเรือ และพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน)
· พื้นที่บ่อเก็บกักตะกอนดินเลน ประมาณ 450 ไร่ |
ดำเนินการในช่วงที่ 1 โดยเอกชนจะได้รับสิทธิในการพัฒนาพื้นที่ 35 ปี (ปี 2563-2597) โดยใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี และดำเนินกิจการท่าเรือก๊าซ 30 ปี |
12,900* |
งบประมาณ
ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย |
การลงทุนบนพื้นที่ที่ได้จากการถมทะเลในช่วงที่ 1
(Superstructure) |
ท่าเรือก๊าซ (พื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร) |
35,000 |
เงินลงทุน
เอกชน |
ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า (พื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร) |
ดำเนินการในช่วงที่ 2 โดยเอกชนจะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ 32 ปี (ปี 2566-2597) โดยใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี และระยะเวลาดำเนินกิจการ 30 ปี |
4,300 |
คลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ (พื้นที่ 150 ไร่) |
3,200 |
* การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 12,900 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี จะชำระเงินร่วมลงทุนสุทธิ 710 ล้านบาทต่อปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 |
นอกจากนี้ ภายในโครงการฯ ยังประกอบด้วยสาธารณูปโภคอื่น ๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบดับเพลิง ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
20. เรื่อง มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อน คาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมรถ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
2. เห็นชอบหลักการของร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ (มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์และมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมรถ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้สั่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
สาระสำคัญ
เนื่องจากประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนโพดุล และพายุโซนร้อนคาจิกิประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ กระทรวงการคลังจึงเห็นควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ดังนี้
1. มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์
ให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคารหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับตัวอาคารหรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุดหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับห้องชุดในอาคารชุด และได้จ่ายระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้ว ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1.1 ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
1.2 ผู้มีเงินได้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่า หรือผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบกิจการ หรือใช้ประโยชน์อื่น
1.3 กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งแห่ง ให้รวมคำนวณค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินทุกแห่งเข้าด้วยกัน
2. มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมรถ
ให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกหรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ และได้จ่ายระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
2.1 รถหรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถนั้น ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในขณะที่รถดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
2.2 ผู้มีเงินได้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้เช่าซื้อรถนั้น
2.3 ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถหรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถมากกว่าหนึ่งคัน ให้รวมคำนวณค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถทุกคันเข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ผลกระทบ
การดำเนินมาตรการฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบ ดังนี้
1. บรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายในทรัพย์สินจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
2. คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากมาตรการในข้อ 1 ประมาณ 30 ล้านบาท และจากมาตรการในข้อ 2 ประมาณ 1,020 ล้านบาท
21. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านสื่อมวลชนอาเซียน – จีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์ เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านสื่อมวลชนอาเซียน – จีน (Joint Statement on Strengthening Media Exchanges and Cooperation between ASEAN and China)
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทวัญ ลิปตพัลลภ) ในฐานะรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนของไทย รับรองร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและร่วมมือด้านสื่อมวลชนอาเซียน – จีน แบบเวียน (Ad-referendum Endorsement) โดยกรมประชาสัมพันธ์จะประสานสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อแจ้งยืนยันการรับรองของไทยและเสนอผู้นำรับรองในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน ครั้งที่ 22 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพต่อไป
อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่างถ้อยแถลงร่วมฯ จากที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558
สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ เป็นการกำหนดให้ปี 2562 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนอาเซียน – จีน โดยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านกิจกรรมความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชนที่หลากหลายเพื่อมุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ดังนี้
1. ส่งเสริมการสื่อสารระหว่างรัฐบาลของอาเซียนและจีนเกี่ยวกับนโยบายและประเด็นด้านสื่อสารมวลชน
2. เสริมสร้างความร่วมมือด้านการรายงานข่าวและการผลิตข่าว ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออันเข้มแข็งระหว่างอาเซียนและจีน
3. ยกระดับความร่วมมือด้านการผลิตเนื้อหาสื่อ ส่งเสริมสื่อมวลชนของจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนในการร่วมผลิตภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ สารคดี และสื่อใหม่
4. ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการเผยแพร่ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพของจีนและอาเซียน ผ่านช่องทางที่เหมาะสมของทั้งสองฝ่าย
5. ส่งเสริมให้สื่อมวลชนจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่จัดขึ้นในจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน
6. เพิ่มพูนความร่วมมือในอุตสาหกรรมสื่อทางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสื่อ รวมถึงการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือ โดยเน้นความร่วมมือด้านดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูลและการเชื่อมโยงเครือข่าย
7. ส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอบรมด้านสื่อสารมวลชน โดยการแลกเปลี่ยนการเยือนและจัดการประชุมสัมมนาสำหรับสื่อมวลชนจากจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน
8. ดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านสื่อสารมวลชน ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน (รัฐมนตรีจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ บรูไนดารุซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) จะต้องให้การรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านสื่อมวลชนอาเซียน – จีน แบบเวียนเพื่อประกาศถ้อยแถลงร่วมดังกล่าวในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน – จีน ครั้งที่ 22 ในห้วงเดียวกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เดือนพฤศจิกายน 2562 ณ ประเทศไทย
22. เรื่อง (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Joint Statement on Climate Change) สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (United Nations Framework Convention on Climate Change, the 25th Session of the Conference of the Parties: UNFCCC COP 25) [(ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ] พร้อมมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมเห็นชอบ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 และมอบหมายให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรอง (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ตามลำดับ รวมทั้งมอบหมายให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนประเทศไทยที่ได้รับมอบหมายนำเสนอ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ต่อที่ประชุม UNFCCC COP 25 ตามความเหมาะสมในฐานะที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2562 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่างฯ จากที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558
[(ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในวันที่ 7 – 10 ตุลาคม 2562]
(ร่าง) แถลงการณ์อาเซียนฯ มีสาระสำคัญในการแสดงจุดยืนร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ดังนี้
1. เน้นย้ำความมุ่งมั่นของรัฐภาคีต่อกรอบสัญญาฯ ภายใต้การดำเนินการที่ผ่านมาในด้านต่าง ๆ ของภูมิภาคอาเซียน
2. เน้นย้ำผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐภาคีสนับสนุนวิทยาศาสตร์และกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. ยินดีต่อข้อตัดสินใจที่รับรองในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 24 และที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 1 ที่เมืองคาโตวิเซ สาธารณรัฐโปแลนด์ และเรียกร้องให้เร่งดำเนินการเพื่อหาข้อยุติในการเจรจาในประเด็นต่าง ๆ เช่น กรอบระยะเวลาของ NDCs
4. ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับการดำเนินงานก่อนปี 2563 และข้อกำหนดกลไกการดำเนินงานของรัฐภาคีประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาคีประเทศที่พัฒนาแล้วเติมเต็มความมุ่งมั่นด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เติมเต็มและยกระดับความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนทางการเงินจำนวนหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและรัฐภาคีประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ และให้สัตยาบันต่อข้อตกลงโดฮาของพิธีสารเกียวโต
5. เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเสริมสร้างการสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนและรัฐภาคีประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐภาคีดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือด้านการเกษตรโคโรนีเวีย
6. เน้นย้ำความจำเป็นของการสนับสนุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนด้านการพัฒนาและถ่ายทอดทางเทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพต่อประเทศสมาชิกอาเซียนและรัฐภาคีประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ
23. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างคำมั่นของไทยที่จะประกาศในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างคำมั่นของไทยที่จะประกาศในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส [ซึ่งเป็นการประชุมวันแรกของการประชุมคณะกรรมการบริหารของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ) สมัยที่ 70 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 7 -11 ตุลาคม 2562] ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ก่อนมีการประกาศคำมั่น ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง รวมทั้งเห็นชอบให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยร่วมให้คำมั่นของไทยต่อการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
ร่างคำมั่นที่ไทยจะประกาศในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นบนพื้นฐานของกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ และให้ครอบคลุมกลุ่มที่ตกหล่นจากการแก้ไขปัญหาในอดีต เนื่องจากช่องทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมา โดยร่างคำมั่นประกอบด้วย 7 ประเด็น ดังนี้ (1) การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ (to promote access to education for stateless children) (2) การยกระดับการให้การคุ้มครองทางสังคมแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติ (to enhance social protection for stateless persons) (3) การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาสัญชาติและสิทธิความเป็นพลเมือง เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิจารณาสถานะให้สามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค (to adjust regulations for granting nationality and civil rights to cover target groups to access naturalization process equally and equitably) (4) การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบที่จะอำนวยความสะดวกให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติเข้าถึงบริการของสำนักทะเบียนไดสะดวกยิ่งขึ้น (to enhance effectiveness of the systems to facilitate stateless persons to access civil registration services) (5) การเร่งรัดการขจัดภาวะความไร้รัฐในกลุ่มผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ (to expedite process to address stateless among the elderly) (6) การพัฒนาความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ สิทธิ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนเกิดและทะเบียนราษฎรของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเฉพาะประชากรในพื้นที่เข้าถึงยาก (to enhance partnership among all sectors of the society to raise awareness on the roles, duties, rights, and process regarding birth and civil registration of stateless persons, especially the hard – to- reach population) (7) พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคในการร่วมกันแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ (to promote international and regional cooperation in addressing statelessness)
24. เรื่อง การจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนและความตกลงการดำเนินงานโครงการ Strengthening Regional Experiences on Sustainable Peatland Management (ASEAN-REPEAT) ภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ป่าพรุอย่างยั่งยืนและบรรเทาหมอกควันในอาเซียน (Sustainable Use of Peatland and Haze Mitigation in ASEAN : SUPA)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำอาเซียนกับเลขาธิการอาเซียน และอนุมัติให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือตอบรับของฝ่ายอาเซียน รวมทั้งเห็นชอบต่อร่างความตกลงการดำเนินงาน (Implementation Agreement) ระหว่างอาเซียนกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (German Society for International Cooperation - GIZ) เกี่ยวกับโครงการ Strengthening Regional Experiences on Sustainable Peatland Management (ASEAN-REPEAT) ภายใต้โครงการ SUPA และอนุมัติให้รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงการดำเนินงานในนามของอาเซียนตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
การดำเนินงานโครงการ ASEAN-REPEAT ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ 1 (Component 1) ของโครงการ SUPA เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของสำนักเลขาธิการอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนในการบริหารจัดการป่าพรุ (Peatland Governance) นั้น สหภาพยุโรปได้มอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี GIZ เป็นผู้ดำเนินการในโครงการ ASEAN-REPEAT กับอาเซียน ดังนี้
1. ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำอาเซียน กับเลขาธิการอาเซียน โดยหนังสือของฝ่ายเยอรมนี ระบุถึงวัตถุประสงค์ งบประมาณและประเด็นด้านการบริหารเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าว และหนังสือของฝ่ายอาเซียนจะตอบรับข้อเสนอของฝ่ายเยอรมนี ทั้งนี้ โครงการ ASEAN-REPEAT จะมีผลบังคับใช้ในวันที่เลขาธิการอาเซียนลงนามในหนังสือตอบรับดังกล่าว
2. การลงนามร่วมในร่างความตกลงการดำเนินงาน (Implementation Agreement) ระหว่างอาเซียนกับ GIZ เกี่ยวกับโครงการ ASEAN-REPEAT ภายใต้โครงการ SUPA โดยรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนและผู้แทน GIZ จะเป็นผู้ลงนาม โดยความตกลงฯ จะกำหนดรายละเอียด ต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและบุคลากร การสนับสนุนทางการเงิน การจัดหาสถานที่ และวัสดุอุปกรณ์ การบริหารจัดการ การประเมินผล รวมทั้งข้อบทเกี่ยวกับการแก้ไขและบอกเลิกความตกลงฯ
25. เรื่อง ขออนุมัติการรับรอง (ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกีฬาฟุตบอลระหว่างอาเซียนกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกีฬาระหว่างอาเซียนและสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับรอง (ร่าง) บันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ
สาระสำคัญของ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันและแนวทางในการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย โดยนำกีฬาฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม และวิถีสุขภาพที่ดี รวมถึงการส่งเสริมให้กีฬาฟุตบอลมีการขยายเครือข่ายและการสร้างขีดความสามารถสู่มาตรฐานสากลทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทั้งยังปลูกฝังค่านิยมให้มีน้ำใจนักกีฬาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่มีการลงนาม และจะมีอายุ 5 ปี รวมทั้งบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวอาจมีการต่ออายุตามความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ นี้ได้ โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน การยกเลิกดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่อเนื่องที่ได้รับการตกลงกันก่อนวันที่ยกเลิก
โดยการรับรอง (ร่าง) บันทึกความเข้าใจฯ จะต้องรับรองในการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน และการประชุมเจ้าหน้าที่กีฬาอาวุโสอาเซียน ระหว่างวันที่ 6 – 10 ตุลาคม 2562 ณ กรุงมะนิลา ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงยุติธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้ง
นายวิชัย ไชยมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. (นักบริหารระดับต้น) สำนักงาน ป.ป.ส. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและการตลาดในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและการตลาดในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
28. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เสนอแต่งตั้ง
นางสุพัฒตรา ลิมปะพันธุ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
29. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอรับโอน
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งเกษียณอายุราชการ โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมการโอนด้วยแล้ว
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.ร. (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอแต่งตั้ง
นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งผู้ที่ครองตำแหน่งอยู่เดิมโอนไปดำรงตำแหน่งอื่น
31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1.
นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์
2.
นางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส
3.
นายสรยุทธ ชาสมบัติ รองอธิบดีกรมการกงสุล ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 3 ราย ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1.
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
2.
นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เพื่อทดแทนผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
33. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ดังนี้
1. นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล เป็นประธานกรรมการ
2. นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ เป็นกรรมการ
3. นายเพิ่มพูน พึ่งประสิทธิ์ เป็นกรรมการ
4. นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย เป็นกรรมการ
5. ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เป็นกรรมการ
6. นายระพีพัฒน์ สุเมธโชติเมธา เป็นกรรมการ
7. นายอัครพล ลีลาจินดามัย เป็นกรรมการ
8. พันเอก (พิเศษ) เจียรนัย วงศ์สอาด เป็นกรรมการ
9. นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ เป็นกรรมการ
(ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
10. นายธำรงค์ ทองตัน เป็นกรรมการ
(ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
34. เรื่อง รายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาของรองนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการต่าง ๆ เพิ่มเติม (จำนวน 5 ราย)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา (ปคร.) ของรองนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการต่าง ๆ เพิ่มเติม (จำนวน 5 ราย) ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรี/ส่วนราชการ |
รายชื่อ ปคร. |
1. รองนายกรัฐมนตรี
(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) |
นายไชยยศ จิรเมธากร
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง |
2. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา |
นางสาวดารณี ลิขิตวรศักดิ์
ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา |
3. กระทรวงคมนาคม |
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน
รองปลัดกระทรวงคมนาคม |
4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
นายอดิศร นุชดำรงค์
รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
5. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ |
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร
เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ |
..............................