วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2562
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดการประชุมผู้นำอาชีวศึกษาอาเซียน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2562 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดการประชุมผู้นำอาชีวศึกษาอาเซียน "ASEAN TVET Officials Meeting on Advancing TVET towards Internationalization of Vocational Education Qualification and Standards for Sustainable Development" ณ โรงแรม ดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่ได้เข้าร่วมประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 50 ณ ประเทศมาเลเซีย ทำให้ทราบว่าประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาการอาชีวศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เนื่องจากการอาชีวศึกษาเป็นศูนย์รวมของอาชีพต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีความพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้และทรัพยากรซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาการอาชีวศึกษาในภูมิภาคให้มีความเข้มแข็ง พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการที่จะพัฒนาอาชีวศึกษาระหว่างกัน เพื่อแบ่งปันข้อมูลความต้องการที่จะพัฒนาการอาชีวศึกษาในภูมิภาคเพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนกัน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาคนในอาเซียน และคาดหวังว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีบทบาทสำคัญด้านการค้าในระดับโลก
ในส่วนของรัฐบาลไทยก็มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพอันจะส่งผลถึงการพัฒนาประเทศ หากเรามีกำลังคนที่มีคุณภาพและมีทักษะที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ก็จะทำให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายดังกล่าว จึงเร่งพัฒนาการศึกษาไทยพร้อมเชิญชวนให้นักเรียนนักศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาเรียนที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำเกิดความท้าทายและเป็นแรงผลักดันให้บุคลากรในประเทศได้พัฒนาตนเอง รวมทั้งเกิดการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนด้วย อีกทั้ง ต้องมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างประเทศ ในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของตลาดแรงงานในระดับประเทศและภูมิภาค
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว ได้มีการประชุมโต๊ะกลมระดับผู้นำอาชีวศึกษาและมีแถลงการณ์ร่วมอาชีวศึกษาอาเซียน เพื่อพัฒนามาตรฐานการอาชีวศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพสู่สากลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นทิศทางการดำเนินงานด้านอาชีวศึกษาร่วมกัน โดยมีภารกิจความร่วมมือ อาทิ การแบ่งปันความรู้ การปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ และทรัพยากร ในการเตรียมกำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านกลไกและช่องทางออนไลน์, จัดตั้งสมาพันธ์อาชีวศึกษาอาเซียน, ทบทวนและพัฒนากรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติโดยอ้างอิงกรอบคุณวุฒิอาเซียน, การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา, การขับเคลื่อนการเป็นผู้ประกอบการสำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษา เป็นต้น
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน