ครม. เห็นชอบเปลี่ยนโฉมรถเมล์ไทยเป็น “รถเมล์พลังงานไฟฟ้า” ในพื้นที่ กทม. คาด 10 ปี ลดก๊าซเรือนกระจก 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
.
ที่ประชุม ครม. (31 ม.ค. 66) เห็นชอบหนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็น “รถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ)” ในพื้นที่ กทม.
.
โครงการฯ ดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ครอบคลุมเส้นทางเดินรถฯ ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก
.
คาดว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2564 - 2573 (10 ปี) จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/คัน/ปี หรือประมาณ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน
.
นอกจากนี้ ครม. ได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้แก่บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อ "ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต" ที่ได้จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2564 - 2573 ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส
.
การดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็น "กรอบความร่วมมือ" สำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ
.
นอกจากนี้ ยังสอดรับกับแผนนโยบายพลังงานและยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
.