นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลจีน ที่เชิญไทยในฐานะประธาน G77 เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งตรงกับเป้าหมายของการประชุมที่ให้ความสำคัญกับวาระการพัฒนา และบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในการสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง G20 และ G77 ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของไทยเช่นกัน
นายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความชื่นชมจีนและสหรัฐฯ ที่แสดงบทบาทนำในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกโดยบรรลุข้อตกลงในการรับรองข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับชาวโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS)
โดยเฉพาะในช่วงสำคัญนี้ ที่โลกกำลังก้าวสู่การดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ซึ่งจะนำโลกไปสู่เป้าหมายหนึ่งเดียวกัน (One World, One Destiny)
ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเผชิญกับความท้าทายในหลากมิติ จึงต้องร่วมมือกันมากขึ้นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการผนึกกำลังสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่เพื่อเป็น “ยานยนต์แห่งศตวรรษที่ 21” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกสู่แนวทางการพัฒนาใหม่ (New Path of Growth) แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราต้องต้องกล้าคิดนอกกรอบและก้าวข้ามเส้นแบ่งในรูปแบบเดิม ๆ เพื่อสร้างหุ้นส่วนระดับโลก ที่ไม่จำกัดรูปแบบของความร่วมมือ ทั้งเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี โดยเฉพาะการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นวาระที่ไทยเน้นย้ำในฐานะประธาน G77
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การผลักดันความร่วมมือใหม่เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต้องลงมือทำใน 3 ส่วน ดังนี้
หนึ่ง ประสานนโยบายและความร่วมมือเพื่อให้โอกาส ทางเลือก และไม่ปิดกั้นประเทศกำลังพัฒนา ดังเช่นที่ทำอยู่ระหว่าง G20 กับ G77 ในปีนี้ และ ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า นโยบายเศรษฐกิจโลกจะมีการเชื่อมโยง สมดุล และส่งเสริมซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกัน ก็คงไว้ซึ่งพื้นที่นโยบาย สำหรับรัฐบาลเพื่อใช้มาตรการที่เหมาะสมได้ด้วย
สอง ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากภายใน ด้วยการ
(1) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ขับขี่ คอยกำหนดทิศทางและควบคุมการขับเคลื่อน ไปถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัย โดยจะต้องได้รับการศึกษาทุกระดับชั้นและผ่านการพัฒนาทักษะ เพื่อตอบสนองตลาดแรงงาน เช่น ให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมกำหนดหลักสูตรอาชีวะศึกษา ซึ่งไทยได้ดำเนินการแล้วกับประเทศ กลุ่ม G20 อาทิ เยอรมนี และญี่ปุ่น
(2) พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งเสมือนเป็นพลังขับเคลื่อนยานยนต์ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยส่งเสริมการเรียนรู้ วทน. ในทุกระดับการศึกษา สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนสร้างนวัตกรรม โดย G20 ควรร่วมกับ G77 แสวงหาศักยภาพของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าร่วมกัน พัฒนาสินค้าจากทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายของแต่ละประเทศ สร้างแบรนด์ของภูมิภาค เช่น อาเซียนแบรนด์ มาเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ เพิ่มรายได้ภาคเกษตร ซึ่งเป็นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและสร้างตลาดแรงงานใหม่ ๆ เพื่อนำโลกออกจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ซึ่งไทยเองกำลังดำเนินการภายใต้แนวคิด “ประเทศไทย ๔.๐” โดยสร้างแรงจูงใจให้เอกชนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรม S-Curve ต่าง ๆ เช่น โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อพัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ อาหารเพื่อผู้สูงวัย เพื่อสุขภาพ เพื่อผู้ป่วยเฉพาะด้าน อาหารฮาลาล หรือเครื่องสำอาง เป็นต้น
(3) ส่งเสริม SMEs ซึ่งเป็นตัวถังหลักของยานยนต์ลำนี้ให้มีความแข็งแรง ส่งเสริมขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์ เป็นแหล่งสร้างงานและนวัตกรรมที่สำคัญ ดังนั้น G20 จึงควรเสริมสร้างขีดความสามารถของ SMEs ให้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลก ให้ความรู้และปรับปรุงการใช้ประโยชน์จาก IT การเข้าถึงตลาด เงินทุน สินเชื่อ สิทธิพิเศษทางภาษี และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
สาม สนับสนุนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม ผ่านกลไกประชารัฐ ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ลดความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม ทั้งนี้ เราไม่อาจขับเคลื่อนความร่วมมือรูปแบบใหม่ได้หากปราศจากความมั่นคงในสังคม ไทยจึงพยายามนำความมั่นคงกลับคืนมา โดยเร่งแก้ไขปัญหาภายใต้ Roadmap ที่กำหนดไว้ ซึ่งกำลังเดินหน้าไปด้วยดีภายหลังจากมีการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ และจะมีการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๐ เพื่อเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป ทั้งนี้ ผมสนับสนุนวาระการปฏิรูปของ G20 (G20 Structural Reform Priorities) ที่เน้นการเติบโตที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และสมดุล ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีของไทยเช่นกัน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวในฐานะตัวแทนของ G77 เรียกร้องให้ G20 ร่วมมือร่วมใจ โดยอาศัยประสบการณ์ และทรัพยากร ที่มีอยู่ เพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ใหม่ที่จะนำพาโลกไปสู่แนวทางการพัฒนาใหม่ (New Path of Growth) อย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังคำกล่าวที่ว่า แข็งแกร่งไปด้วยกัน (Stronger Together)