วันนี้ (10 พฤษภาคม 2561) เวลา 13.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในหัวข้อ “มุมมองของรองนายกฯประจินฯ” ในกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” ครั้งที่ 3 พร้อมด้วยปลัดและรองปลัดจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ โดยร่วมกันเล่าผลงานรัฐบาล ที่เน้นการทำงานในแบบองค์รวมตามกลไกแนวทางประชารัฐของรัฐบาล
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเกริ่นนำว่า ในส่วนของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น มีหลายส่วนด้วยกัน รวมถึงในส่วนที่กำลังแก้ปัญหา และในส่วนที่กำลังวางแผนประเทศไทย เพื่อเดินหน้าไปสู่อนาคต รวมทั้งแผนระยะยาว ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเสมอในการทำงานร่วมกันแบบองค์รวม คือ กลไกประชารัฐ ที่รัฐบาลกำลังเร่งส่งเสริมอยู่ในขณะนี้
ในส่วนผลงานที่รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลอยู่ในขณะนี้ มีทั้งในด้านอำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขจัดความทุกข์ยาก สร้างประชารัฐรักสามัคคี ส่งเสริมคนดีสู่สังคม ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นองค์รวมที่ไปเชื่อมโยงกับหลายกระทรวง และประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ยอมรับด้านการเชื่อมโยงระบบการขนส่ง โครงข่ายคมนาคม อีกทั้งเป็นศูนย์กลางของการลงทุน ศูนย์กลางการท่องเที่ยว และศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเชื่อมโลกทางซีกโลกด้านตะวันตก ยุโรป อเมริกา อันดามัน ตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน จีน เกาหลี และญี่ปุ่น อีกด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมดประมาณ 67 ล้านคน อยู่ในช่วงเด็กถึงวัยรุ่นไม่เกิน 18 ปี มีประมาณ 14 ล้านคน เยาวชนช่วงวัย 18 ปี จนกระทั่งถึงจบอุดมศึกษาประมาณ 7 ล้านคน อยู่ในช่วงวัยทำงานประมาณ 35 ล้านคน และช่วงวัยสูงอายุประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญทุกมิติ ทั้งด้านเยาวชน วัยทำงาน วัยสูงอายุ และกลุ่มด้อยโอกาส รวมถึงด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมในทุกด้าน การจัดการทางด้านการศึกษาที่มีการปฏิรูปพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ โดยมีการกำหนดนโยบายกระจายสู่ท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ผู้บริหารโรงเรียน ครู อาจารย์ นักเรียน แต่ยังรวมถึงสถาบันครอบครัวและผู้ปกครองต้องมีบทบาทบูรณาการทางการศึกษา ไม่เพียงแต่สร้างเยาวชนให้เป็นคนเก่งเท่านั้น แต่ต้องเป็นคนดีของสังคมด้วย ตลอดจนต้องมีวินัย ร่วมกันสร้างจิตสำนึก สามารถเอาตัวรอดทางสังคมได้ รวมทั้งการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่เยาวชน
รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบคมนาคมขนส่ง ถนนจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองใหญ่ ไปเมืองรอง เมืองเล็ก ไปชนบท และเชื่อมโยงไปสู่พื้นที่ชายแดน และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตในการคมนาคมของชุมชน ตลอดจนในส่วนการขยายด้านการบินพาณิชย์ การขนส่งทางอากาศ ทั้งนี้ล่าสุดรัฐบาลได้เปิดสนามบินอู่ตะเภา โดยรัฐบาลมีความตั้งใจและมุ่งมั่นพัฒนาให้เป็นสนามบินแห่งภาคตะวันออก เพื่อรองรับ EEC ต่อไป
ขณะเดียวกัน ในส่วนด้านการจัดการทางน้ำ มีการเชื่อมต่อทางอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังอีกหลายประเทศ ส่วนทะเลอันดามัน เชื่อมต่อไปยังทะเลอินเดีย ยุโรป และแอฟริกาใต้ ตามลำดับ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมทางทะเลที่ดี มีความพร้อม ทำให้ประเทศไทยมีระบบการขนส่งในทุก ๆ ด้านเทียบเท่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเพิ่มเติมในส่วนด้านพลังงานว่า ในส่วนพื้นที่ที่ใช้มากที่สุดนั้นคือ ภาคกลาง 60 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล รัฐบาลพร้อมผลักดันให้ใช้พลังงานสะอาด (Green Energy) เพื่อลดในส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอน ได้รองรับด้านที่อยู่อาศัย และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในทุกมิติ พร้อมกันนี้ในส่วนด้านสื่อสารมวลชน ด้าน ICT สายเคเบิ้ล ได้มีการพัฒนาในส่วนเชื่อมโยงเครือข่ายดิจิทัล และกำลังเร่งดำเนินการกระจายไปสู่ในทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง
รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำในตอนท้ายอีกว่า ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่เน้นไปสู่ด้านการเกษตรซึ่งเป็นส่วนของเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนทั่วประเทศนั้น รัฐบาลได้เร่งส่งเสริมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยเน้นด้านการศึกษาทุกช่วงชีวิตโดยเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วย พร้อมทั้งด้านการจัดการด้านแรงงาน การใช้เทคโนโลยีในการต่อยอดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงด้านการวิจัย ซึ่งเป็นการสร้างเสริมปัญญา การค้นคว้าหาข้อมูลนำไปสู่การวิเคราะห์ ทำให้เกิดปัญญา นำไปสู่เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม ที่มีการพัฒนาบูรณาการร่วมกัน ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน เป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรอบด้าน โดยการพัฒนาคนและการขับเคลื่อนประเทศ เปรียบดังลูกดอกของธนู มีส่วนหัว ส่วนกลาง ส่วนหาง แต่จุดหมายเดียวกันคือ “เป้าหมาย” ที่จะต้องขับเคลื่อนให้ตรงเป้าหมายเต็ม 100 เปอร์เซนต์ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 อย่างเต็มรูปแบบในทุก
------------------------------------
ปลัด พน.ยืนยัน แผน PDP2018 จะทำให้การจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ เผยนำงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดหาพลังงาน เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชนชายขอบทั่วประเทศเข้าถึงแหล่งพลังงาน
วันนี้ (10 พ.ค.61) เวลา 13.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และนายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในกิจกรรมสื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า ครั้งที่ 3/2561 ดังนี้
ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวถึงการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ Power Development Plan หรือ PDP ซึ่งแผนเดิมคือ PDP2015 โดยในแผนใหม่ที่กำลังปรับปรุงคือแผน PDP2018 ได้มุ่งเน้นจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอในทุกภูมิภาค โดยจะไม่ทำให้ต้นทุนของไฟฟ้าเป็นภาระต่อการดำรงชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแผน PDP ฉบับใหม่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมของการใช้ไฟฟ้าเป็นรายภาค มุ่งเน้นศักยภาพของเชื้อเพลิงที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กระทรวงพลังงานจะสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ประกอบการ สามารถนำเชื้อเพลิงที่จัดหาได้เพื่อสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสังคมมองว่าในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการส่งเสริมการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นจะแก้ปัญหาโดยการนำเชื้อเพลิงในท้องถิ่นมาแก้ปัญหาในเบื้องต้น นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาสายส่งให้เพียงพอในการส่งผ่านกระแสไฟฟ้าซึ่งกระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ อีกทั้งจะมีการผลักดันการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ โดยกระทรวงพลังงานจะประสานข้อมูลต่าง ๆ กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนผลักดันการผลิตไฟฟ้า มาแก้ปัญหาขยะที่มีอยู่ล้นเมืองในปัจจุบัน ฉะนั้น จึงมั่นใจได้ว่าแผน PDP2018 ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จะทำให้การจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ
ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวต่อว่า แผน PDP เป็นการวางแผนการจัดหาพลังงานไฟฟ้า จากปัจจุบันไปถึงอนาคต 20 ปีข้างหน้า โดยวันนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 42,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งดูเหมือนว่ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินอยู่มาก แต่ในความเป็นจริงแล้วภายใต้กำลังการผลิต 42,000 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าซึ่งเป็น Non—Firm อยู่ค่อนข้างมาก และส่วนมากจะมาจากพลังงานทดแทน ในห้วงปีนี้ถึงอีก 3-4 ปี อาจจะยังไม่มีเรื่องการขาดแคลนไฟฟ้าเกิดขึ้น แต่ในระยะ 10 – 20 ปีข้างหน้า ความต้องการการใช้ไฟฟ้าจะเติบโตตามการเติบโตของ GDP จึงมีการวางแผนผลิตไฟฟ้าที่ 42,000 เมกะวัตต์ ให้กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ซึ่งบางภูมิภาคมีโรงไฟฟ้าหลายแห่ง มีการนำไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ที่มีปริมาณไฟฟ้าเกินกว่าความต้องการของภูมิภาคนั้น ๆ จึงต้องส่งผ่านไปภูมิภาคอื่น แต่ในขณะที่พื้นที่ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าหลัก 2 โรง คือโรงไฟฟ้าจะนะ กับโรงไฟฟ้าขนอม มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ 2,400 เมกะวัตต์ แต่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดใกล้เคียงกับการผลิตไฟฟ้า เพราะฉะนั้น แผน PDP2018 ฉบับใหม่ จะมีการมุ่งเน้นเจาะเป็นรายภายใน 3-4 ภูมิภาคเพื่อให้เกิดความชัดเจน ให้มีการกระจายกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจากแผน PDP2015 ในปัจจุบัน และจะพยายามหาศักยภาพของเชื้อเพลิงในแต่ละภูมิภาคเพื่อทำให้แต่ละภูมิภาคสามารถพึ่งพาการผลิตและการใช้ในภูมิภาคของตนให้เพียงพอ
“ขณะนี้เรื่องของพลังงานมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และเทคโนโลยีที่มาเสริมในเรื่องพลังงานทดแทนค่อนข้างจะมีเสถียรภาพมากขึ้นและจับต้องได้ง่ายขึ้น PDP ฉบับใหม่จะมาดูความต้องการของประชาชนในแต่ละภาคส่วน และจะทำให้เกิดความมั่นคง โดยแผน PDP2018 จะออกมาปลายเดือนกันยายนนี้” รองนายกรัฐมนตรีกล่าวเสริม
สำหรับเรื่องข้อกังวลของภาคเอกชนที่ว่าภาครัฐจะชะลอการรับซื้อพลังงานทดแทน นั้น ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า พลังงานทดแทนที่นำมาผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานทดแทนตามแผน ทั้งนี้ พลังงานทดแทนไม่ใช่แค่เรื่องของพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น ห้วงที่ผ่านมามีข่าวว่ากระทรวงพลังงานจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ แผน PDP ฉบับเดิมได้กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากปี 2015 – 2036 รวม 20 ปีเป็นปริมาณกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้นประมาณ 16,000 เมกะวัตต์ โดยจากที่เดินตามแผนมา 3 ปีปรากฏว่าได้รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไปแล้วเกือบ 10,000 เมกะวัตต์ และวันนี้ก็ไม่ได้หยุดการรับซื้อ จากเดิมที่มีการกำหนดอัตราการรับซื้อในรูปแบบ Adder ก็ดี หรือ Feed-in Tariff ก็ดี ถึงปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไป และมีต้นทุนที่ต่ำลง จึงได้มีการปรับปรุงวิธีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนในอีกรูปแบบหนึ่ง คือไม่ต้องการให้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นภาระต้นทุนสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ฉะนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจึงยังมีอยู่ภายใต้แผน PDP2018 ที่กำลังพัฒนา แต่อาจจะลดอัตราการรับซื้อซึ่งเป็นภาระ เนื่องจากมองว่าต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแต่ละเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีต้นทุนที่ถูกลง ดังนั้น จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในราคาที่เหมาะสม และจะต้องไม่เป็นภาระค่าไฟต่อผู้ใช้ไฟ หรือเป็นภาระต่อการขับเคลื่อนการลงทุน หรือระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งตัวเลขในกลุ่มโซล่าร์ กลุ่มลม กลุ่มชีวมวลหรือชีวภาพ ก็ยังมีช่องว่างอยู่
ขณะที่ข้อเสนอของภาคเอกชนที่ให้ตั้งราคากลางในการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน นั้น ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาภายใต้แผน PDP2018 ซึ่งจากแผน PDP2015 การรับซื้อไฟฟ้ามีตารางการรับซื้อ ที่เทคโนโลยีแต่ละประเภทจะมี Feed-in Tariff แต่ภายใต้การแข่งขันโดยการบิดเข้ามา จะสังเกตได้ว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้วมีการบิด ปรากฏว่าค่าไฟฟ้าถูกลงเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในแผน PDP ฉบับใหม่ในส่วนของพลังงานทดแทนก็จะต้องมีการทบทวนให้เหมาะสม
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวถึงเรื่องการบริหารสัมปทานการสำรวจผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2565 ว่า ปัจจุบันมีการประกาศเชิญชวนผู้ที่จะมาร่วมลงทุนในการสำรวจและผลิต ซึ่งคาดว่าจะได้ผู้รับสัญญาและเข้ามาร่วมผลิตในปลายปี 2561 และจะมีการเซ็นสัญญาเข้าร่วมผลิต เพื่อให้มีการผลิตที่มีปริมาณเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตตะวันออกด้วย และนอกจากการผลักดันในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานหลัก ๆ แล้ว กระทรวงพลังงานยังได้สนับสนุนภารกิจไทยนิยม ยั่งยืน ของรัฐบาล ในเรื่องการเพิ่มโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรซึ่งมีภาระต้นทุนเรื่องพลังงาน โดยนำพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยสนับสนุนเกษตรกร ในการสูบน้ำเพื่อใช้ในแปลงเกษตรทั่วประเทศ และจะมีการส่งเสริมการจัดหาพลังงานให้ประชาชนที่อยู่ตามชายขอบ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สถานีอนามัย ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่พลังงานงานไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง โดยใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการจัดหาพลังงาน เพื่อให้โอกาสกับประชาชนที่อยู่ชายขอบทั่วประเทศ ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งพลังงาน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตได้มีการดำรงชีวิตตามปกติเช่นเดียวกับประชาชนในเขตเมือง
------------------------------------
รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเผย กระทรวงยุติธรรมเดินหน้างานกองทุนยุติธรรม ช่วยเหลือคนจน คนด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมได้ด้วยตัวเอง
วันนี้ (10 พ.ค.61) เวลา 13.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการดำเนินงานด้านกองทุนยุติธรรม ในกิจกรรมสื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า ครั้งที่ 3/2561 ว่า จากข้อเท็จจริงที่คนจนคนด้อยโอกาสมีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมด้วยตนเองได้ รัฐบาลปัจจุบันได้พยายามแก้ปัญหาในส่วนนี้ โดยหาแนวทางทำให้คนจนที่อยู่ในชุมชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ด้วยการตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้น เพื่อช่วยเหลือคนยากจน คนด้อยโอกาส ที่ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ด้วยตัวเอง และทำให้กองทุนยุติธรรมเป็นนิติบุคคล สามารถนำนิติกรรมและสัญญา ช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องเงินที่สามารถปล่อยตัวชั่วคราว ให้ออกมารวบรวมพยานหลักฐาน พบที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความได้ โดยกองทุนยุติธรรมจะออกเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ เช่น ค่าปล่อยตัวชั่วคราว ค่าจ้างทนายความ เงินวางศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมด และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการดำเนินคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องให้
รองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมไม่มีตัวเลขของประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำให้ต้องใช้เวลาในการสืบว่าคน ๆ นั้นยากจนจริงหรือไม่ แต่จากที่รัฐบาลได้เปิดการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ทำให้สามารถทราบตัวเลขประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มี 11.4 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวน 1 ใน 6 ของประชากรไทย กระทรวงยุติธรรมจึงได้นำเลขบัตรประชาชน 13 หลักเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง และอินเทอร์เน็ตของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ทราบข้อมูลของประชาชนในเวลาเพียงไม่กี่นาที ทำให้สามารถอนุมัติให้ความช่วยเหลือได้ภายใน 1-2 วัน จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 10 วัน ทั้งนี้ กองทุนยุติธรรมดำเนินงานมาแล้วก่อนหน้านี้ถึงปัจจุบันรวม 12 ปี แต่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในรัฐบาลปัจจุบันประมาณเกือบ 2 ปี
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เนื่องจากไม่มีตัวแทนของกองทุนฯ อยู่ในหมู่บ้าน ตำบล กระทรวงยุติธรรมจึงได้ร่วมมือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดการอบรมหลักสูตรให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีความรู้เรื่องของกองทุนยุติธรรม เพื่อให้สามารถช่วยนำความรู้ไปให้กับลูกบ้านได้ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนในทุกหมู่บ้าน ตำบล เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่จังหวัด เพราะที่ผ่านมานั้นหลายคนมาถึงที่กระทรวงยุติธรรมแล้วไม่สามารถเดินทางกลับได้ บางคนกลับไปถึงอำเภอแล้วก็ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ รวมทั้งมีเรื่องการยืมเงินค่าใช้จ่ายเพื่อมาดำเนินการด้วย ฉะนั้น กองทุนยุติธรรมจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการดำเนินการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเชื่อว่า การดำเนินงานดังกล่าว จะสามารถทำให้คนยากจนสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมได้มากขึ้น ขณะที่เรื่องการใช้หนังสือค้ำประกันสัญญาจากกองทุนยุติธรรม ก็กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานศาลยุติธรรมถึงข้อกฎหมาย และระเบียบที่จะมารองรับ เชื่อว่าหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จ จะทำให้คนจนคนด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ด้วยตัวเอง
------------------------------------
กระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรผลิตครู เน้นจบมามีคุณภาพ มีอัตรารองรับ
วันนี้ (10 พฤษภาคม 2561) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการความคืบหน้าการดำเนินการด้านการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้กิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” ว่า กระทรวงศึกษาได้ดำเนินโครงการจัดหาครูดี ครูเก่ง ซึ่งเป็นการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในระยะ 10 ปี ซึ่งเป็นการจัดหาครูเก่ง ครูดี เข้าสู่วิชาชีพครูตามกรอบอัตรากำลังที่ว่างลง เน้นผลิตครูตามจำนวนที่จำกัด เน้นคุณภาพของผู้เรียน เมื่อจบมาแล้วสามารถบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยตามกรอบอัตราที่ว่างลงได้ทันที เพื่อลดอัตราไม่ให้คนเรียนครูมากเกินจำนวนที่ต้องการ และผลิตครูได้ตรงกับสาขาตำแหน่งที่มีอัตรารองรับ โดยในปีงบประมาณ 2559 ทางกระทรวงศึกษาได้บรรจุครูที่จบการศึกษาแล้วประมาณสี่พันกว่าคน และในปีงบประมาณ 2560 ได้บรรจุไปแล้วสามพันกว่าคน
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันข้าราชการครูทั้งหมดที่ได้รับการบรรจุนั้น ผ่านการคัดเลือกมาจาก 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1. การสอบคัดเลือกซึ่งดำเนินการเปิดสอบและบรรจุโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2. เปิดโอกาสให้พนักงานราชการสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู โดยให้โควต้า 25 เปอร์เซ็นต์ของอัตราเกษียณในแต่ละปี และ 3.ได้จากโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ ซึ่งรัฐบาลให้ทุนเด็กเก่ง ดีมาเรียนรู้หลักสูตร 5 ปี และบรรจุเป็นข้าราชการครูหลังสำเร็จการศึกษา
นอกจากนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ เพื่อพัฒนาครูให้เชื่อมโยงกับระบบวิชาชีพครู และหลักเกณฑ์วิทยะฐานะ มีการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ องค์ประกอบของหลักสูตร โดยสถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นที่ฐาน (สพฐ.) เป็นผู้อนุมัติหลักสูตร และให้ครูเลือกหลักสูตรเข้าสู่การพัฒนา แทนจากเดิมเปิดหลักสูตรตามทั่วไปตามส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ ครบถ้วน ชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับอบรมพัฒนาครู จำนวน 10,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อให้ครูได้เลือกหลักสูตรที่จะพัฒนาตนเองได้ตามความต้องการ โดยครูที่มีความสนใจสามารถประสานขอรับงบประมาณสำหรับการอบรม ได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
--------------------------------------
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเผยดำเนินการติดตั้งโครงการเน็ตประชารัฐตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำนวน 24,700 หมู่บ้าน รองรับการใช้งานของประชาชนได้อย่างเต็มรูปแบบ
วันนี้ (10 พฤษภาคม 2561) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงการความคืบหน้าการดำเนินการของปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” ว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีนโยบายนำพาประเทศไทย ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นที่ฐานด้านดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้บริการต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ด้านสาธารณสุข ด้านการท่องเที่ยว การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ รวมไปถึงการค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ เป็นต้น
ปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการติดตั้งโครงการเน็ตประชารัฐตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำนวน 24,700 หมู่บ้าน แบ่งออกเป็นดังนี้ ภาคเหนือ จำนวน 4,412 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 13,468 หมู่บ้าน ภาคกลาง จำนวน 2,089 หมู่บ้าน ภาคใต้ จำนวน 3,097 หมู่บ้าน ภาคตะวันออก จำนวน 1,554 หมู่บ้าน และกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล จำนวน 80 หมู่บ้าน โดยรัฐบาลเปิดให้ใช้ Wi-Fi เน็ตประชารัฐ หมู่บ้านละ 1 จุด พร้อมกับเปิดโครงข่ายให้บริการบ้านเรือนประชาชน (Open Access Network) โดยให้ Operator ทุกรายทีมีใบอนุญาต กสทช. เชื่อมต่อโครงข่ายให้บริการบ้านเรือนประชาชน โดยรัฐบาลไม่เก็บค่าเชื่อมต่อโครงข่าย เพื่อให้บริการบ้านเรือนประชาชนในราคาถูก เพราะไม่มีต้นทุนโครงข่ายเน็ตประชารัฐ โดย Operator สามารถยื่นความประสงค์ได้ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ส่วนประเด็นเรื่อง ความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ นั้น ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวอย่าเป็นกังวลในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ความมั่นใจว่าระบบทางด้านดิจิทัลของประเทศสามารถให้บริการได้ ซึ่งมีหน่วยงานรองรับ ค่อยดำเนินการ อยู่แล้ว ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบิ๊กดาด้า ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะเป็นโครงการใหญ่ อยู่ในขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง