นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ชี้แจงกรณีการประกาศเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมายเมื่อ พ.ศ. 2479 เพียงแต่ประกาศเฉพาะชื่อแต่ไม่กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในสภาพปัจจุบันเพื่อการปกป้องคุ้มครอง อนุรักษ์และควบคุมไม่ให้โบราณสถานถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่า กรมศิลปากรเห็นว่าจำเป็นต้องกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอันประกอบด้วย ตัวเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ถนนโบราณ และบาราย (อ่างเก็บน้ำโบราณ) เนื้อที่ 2,658 ไร่เศษ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงาน กรมศิลปากรได้มีหนังสือแจ้งราษฎรที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินดังกล่าวจำนวน 1,665 ราย และได้ประชุมชี้แจงกรอบแนวทางการทำงานและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เมื่อวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ณ บริเวณลานเมรุพรหมทัต เมืองพิมาย
การขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในอันที่จะควบคุมดูแล รักษาโบราณสถานไม่ให้ถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่า พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2504 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ให้อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณสถานใด ๆ ตามที่อธิบดีเห็นสมควรได้และให้มีอำนาจกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถาน โดยให้ถือว่าเป็นโบราณสถานด้วย
การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน หากมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่พอใจก็ให้มีสิทธิ์ร้องต่อศาลภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่อธิบดีแจ้งให้ทราบ
เมื่อมีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ผู้ครอบครองที่ดิน ก็ยังอยู่อาศัยได้ตามปกติ ไม่มีการโยกย้ายราษฎรออกจากเขตโบราณสถาน รวมทั้งไม่ได้ยึดครองที่ดินของราษฎรแต่อย่างใด อาจจะมีเพียงการออกมาตรการควบคุมการก่อสร้างและการจัดกิจกรรมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับโบราณสถานเท่านั้น
---------------------------